กราฟิกโดยฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช.
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย งานพัฒนาคุณภาพการเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ
ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี
ดร.ภาสรี เล้ากิจเจริญ คุณธงศักดิ์ แก้วประกอบ และคณะ กลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) พัฒนากรรมวิธีการผลิตยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกสำหรับกรวยจราจร เทคโนโลยีนี้ทำให้กรวยจราจรมีสมบัติที่ดีขึ้น เช่น ทนทานต่อการฉีกขาดและแรงกระแทกมากขึ้น มีผิวเรียบเนียน ยึดเกาะกับถนนได้ดี มีผลิตภาพสูงขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าของยางธรรมชาติภายในประเทศ และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ
ภาพโดยคุณชัชวาลย์ โบสุวรรณ งานสื่อมวลชนสัมพันธ์ สวทช.
“แม้การวิจัยจะตอบโจทย์ตามที่ต้องการแล้ว แต่การนำเทคโนโลยีหรือวัสดุที่เกิดจากการวิจัยไปสู่ผู้ใช้งานจริงและการมีตลาดรองรับแบบครบวงจรเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมาก”
ดร.ภาสรี เล้ากิจเจริญ
รู้จักยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก
ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก หรือ TPNR (Thermoplastic Natural Rubber) เป็นโพลิเมอร์ที่ได้จากการผสมยางธรรมชาติและพลาสติกเข้าด้วยกัน ใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีสมบัติยืดหยุ่นคล้ายยาง แต่สามารถขึ้นรูปและนำกลับมาใช้ใหม่ได้เหมือนกับพลาสติก การนำยางธรรมชาติมาใช้ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ยางพาราซึ่งเป็นวัสดุจากธรรมชาติ (green material) อีกด้วย
ภาพโดยคุณชัชวาลย์ โบสุวรรณ งานสื่อมวลชนสัมพันธ์ สวทช.
กรวยยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก
การเตรียมยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกมี 2 วิธี ได้แก่ (1) การผสมยางกับพลาสติกแบบปกติ โดยไม่ต้องเติมสารบ่มหรือยาสุก (curing agent) ซึ่งเฟสของยางไม่เกิดการวัลคาไนซ์ เรียกโพลิเมอร์นี้ว่า Thermoplastic Polyolefins (TPOs) หรือ (2) การผสมยางกับพลาสติกด้วยเทคนิคไดนามิกวัลคาไนเซชัน (dynamic vulcanization) ซึ่งเฟสของยางเกิดการวัลคาไนซ์ในขณะที่กำลังผสมกับพลาสติกในเครื่องผสม เรียกโพลิเมอร์นี้ว่า Thermoplastic Vulcanizates (TPVs)
กว่าจะเป็นยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกสำหรับผลิตกรวยจราจร
ดร.ภาสรี เล่าถึงที่มาของการวิจัยและพัฒนายางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกว่า “เริ่มต้นมาจากงานวิจัยสมัยเรียนปริญญาเอกที่ The University of Akron ภายใต้การดูแลของ Prof. Aubert Y. Coran ซึ่งท่านเป็นหนึ่งในผู้ประดิษฐ์ Santoprene™ TPV งานที่ศึกษาตอนนั้นเป็นการเตรียมยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกโดยใช้ยางธรรมชาติจากประเทศไทยผสมกับพลาสติกหลายชนิดที่ผลิตในสหรัฐอเมริกา”
“เมื่อกลับมาประเทศไทยและทำงานที่เอ็มเทคก็ได้สานต่อองค์ความรู้เรื่องยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกจากการใช้ยางธรรมชาติผสมกับพลาสติกหลายชนิดที่ผลิตได้ภายในประเทศเพื่อให้ได้ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกที่มีสมบัติที่หลากหลาย ในช่วงแรกใช้กระบวนการแบบไม่ต่อเนื่องหรือแบบแบตช์ด้วยเครื่องผสมระบบปิด (internal mixer) ซึ่งมีข้อดีคือควบคุมกระบวนการได้ง่าย แต่ข้อด้อยคือผลิตได้ปริมาณน้อย จนกระทั่งต่อมาได้เปลี่ยนมาใช้เครื่องอัดรีดแบบสกรูคู่ขนาดกึ่งอุตสาหกรรม (pilot scale twin screw extruder) ซึ่งเป็นกระบวนการผสมแบบต่อเนื่องและผลิตได้ในปริมาณที่มากขึ้น”
“การเปลี่ยนมาใช้เครื่อง twin screw extruder มีความท้าทายที่ต้องทำให้ยางที่เป็นแท่งให้เป็นเม็ดเพื่อป้อนเข้าเครื่อง ซึ่งทีมวิจัยได้ใช้เครื่อง rubber pelletizer เพื่อตัดยางแท่งให้เป็นเม็ดและนำมาผสมกับพลาสติกด้วยเทคนิคไดนามิกวัลคาไนเซชันทำให้ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกที่พัฒนาขึ้นนี้มีสมบัติที่ดี และสามารถจดทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบความลับทางการค้าทั้งสูตรและกระบวนการผสมได้”
จากห้องปฏิบัติการ…สู่การใช้งานจริง
ในช่วงแรกได้มีการนำเม็ดยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกที่พัฒนาขึ้นมาทดลองผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ขึ้นรูปด้วยกระบวนการแตกต่างกัน เช่น แผ่นรองแก้วที่ขึ้นรูปด้วยการฉีดเข้าแบบ (injection molding) แผ่นปูพื้นรถกระบะขนาดจำลอง (truck liner) ที่ขึ้นรูปโดยอาศัยความร้อน (thermoforming) และด้ามไขควงที่ขึ้นรูปด้วยกระบวนการโอเวอร์โมลดิง (overmolding) ทำให้เห็นว่าเม็ดยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกที่ผลิตได้มีสมบัติการไหล (flowability) ที่ดีคือสามารถไหลได้เหมือนพลาสติก ทำให้ขึ้นรูปเป็นชิ้นงานต่าง ๆ ได้
แผ่นรองแก้วที่ขึ้นรูปด้วยการฉีดเข้าแบบ
ดร.ภาสรีเล่าถึงที่มาของการนำยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกไปผลิตเป็นกรวยจราจรว่า “หลังจากที่ทีมวิจัยได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกมาระยะหนึ่งจึงมีความพร้อมในการนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ประกอบกับมีการประชาสัมพันธ์งานวิจัยดังกล่าวจึงทำให้บริษัท ธนัทธร จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและขายอุปกรณ์จราจรเกิดความสนใจ”
ดร.ภาสรี อธิบายว่า“กรวยกั้นจราจรที่ใช้กันทั่วไปผลิตจากพลาสติกที่มาจากปิโตรเคมี เช่น พีวีซี (PVC, polyvinyl chloride) โพลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (LDPE, low density polyethylene) โพลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง (HDPE, high density polyethylene) และอีวีเอ (EVA, ethylene-vinyl acetate copolymer) แต่เมื่อรัฐบาลมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG อีกทั้งส่งเสริมการแปรรูปยางพาราให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้จริง ดังนั้น บริษัท ธนัทธร จำกัด จึงสนใจนำเทคโนโลยีการผลิตยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์กรวยจราจรเกรดพิเศษ”
เทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง
ในการขยายขนาดจากระดับห้องปฏิบัติการสู่ระดับอุตสาหกรรม ทีมวิจัยใช้เทคนิคไดนามิกวัลคาไนเซชันและกระบวนการผสมแบบต่อเนื่องด้วยเครื่องอัดรีดแบบสกรูคู่ขนาดใหญ่เพื่อให้มีกำลังการผลิตในระดับอุตสาหกรรม การปรับกรรมวิธีการผลิตดังกล่าวต้องใช้องค์ความรู้ที่หลากหลาย ได้แก่ สมบัติเชิงรีโอโลยี สมบัติความเป็นยาง อัตราการเกิดปฏิกิริยา และกลไกการทำงานของเครื่องอัดรีดแบบสกรูคู่ขนาดใหญ่เพื่อควบคุมการเปลี่ยนแปลงเฟสของยางธรรมชาติและพลาสติกในระหว่างการผสมและขณะเกิดปฏิกิริยา จนกระทั่งได้ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกออกมาเพื่อตัดเป็นเม็ดสำหรับใช้ในกระบวนการฉีดขึ้นรูปเป็นกรวยจราจรต่อไป ทั้งนี้ทีมวิจัยสามารถพัฒนาสูตรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกที่ใช้กระบวนการฉีดขึ้นรูปกรวยจราจรแบบพลาสติกที่บริษัทฯ ดำเนินการอยู่ได้โดยไม่ต้องมีการปรับเปลี่ยนใด ๆ ทั้งสิ้น ที่สำคัญคือกรวยจราจรจากยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกที่ผลิตได้มีสมบัติตามที่บริษัทฯ ต้องการทุกประการ
สมบัติที่โดดเด่นและการสร้างมาตรฐานรองรับ
กรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์ที่กำลังได้รับความสนใจ เนื่องจากมีส่วนผสมของยางที่เป็นวัสดุจากธรรมชาติ จึงอาจถือได้ว่า บริษัท ธนัทธร จำกัด เป็นบริษัทแรกในไทยที่จะผลิตกรวยจราจรประเภทนี้
คุณธงศักดิ์เล่าว่า “ทีมวิจัยได้ทดสอบสมบัติต่าง ๆ เช่น ความแข็ง ความต้านทานแรงดึง ความทนต่อการฉีกขาด ความทนต่อแรงกระแทก และความหนาแน่นของทั้งเม็ดยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกและผลิตภัณฑ์กรวยจราจร โดยเปรียบเทียบกับเม็ดพลาสติกและกรวยจราจรที่ผลิตในเชิงพาณิชย์ จากการทดสอบพบว่าสูตรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกที่พัฒนาขึ้นมีความแข็งมากกว่า มีความทนทานต่อแรงกระแทกสามารถคืนตัวได้ และทนต่อการฉีกขาดได้ดีกว่า”
“นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบกระบวนการขึ้นรูปยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก โดยใช้แม่พิมพ์และสภาวะในการขึ้นรูปที่บริษัทฯ ดำเนินการอยู่เดิมก็พบว่าใช้เวลาในการฉีดขึ้นรูปน้อยกว่า ถอดออกจากแม่พิมพ์ได้ง่ายกว่า ลักษณะของชิ้นงานที่ผลิตได้เหมือนกัน แต่มีผิวที่เรียบเนียนไม่มีฟองอากาศ และมีของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตน้อยกว่า เมื่อนำกรวยจากยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกไปชั่งน้ำหนักพบว่ามีน้ำหนักมากกว่า ซึ่งยึดเกาะถนนได้ดีไม่เกิดการลื่นไถลง่าย และไม่ลอยไปตามน้ำได้ง่าย”
ภาพโดยคุณชัชวาลย์ โบสุวรรณ งานสื่อมวลชนสัมพันธ์ สวทช.
“เราพัฒนาเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันนี้เป็นขั้นตอนของการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งทำให้เกิดความภาคภูมิใจว่างานของเราสามารถนำไปผลิตและใช้ได้จริง สามารถตอบโจทย์ของหน่วยงานและได้ทำหน้าที่ของนักวิจัยในการผลักดันงานวิจัยไปสู่กระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี”
ธงศักดิ์ แก้วประกอบ
“เมื่อทดลองใช้งานจริงร่วมกับบริษัทฯ เป็นเวลาประมาณหนึ่งปีเพื่อประเมินคุณลักษณะด้านการใช้งาน เช่น ความเสถียรของกรวยจราจรที่ต้องไม่ล้มหรือลื่นไถลได้ง่าย ความทนต่อการกระแทก คือเมื่อได้รับแรงกระแทกต้องไม่แตก บิดเบี้ยว หรือเสียรูป พบว่ากรวยจราจรจากยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกมีความเสถียรดี เมื่อตากแดดสีของกรวยจราจรก็ยังคงเป็นไปตามที่บริษัทต้องการ นอกจากกรวยจราจรจากยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกจะมีสมบัติที่โดดเด่นแล้ว ในเรื่องการตลาดยังเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้าที่สนใจผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติด้วย” คุณธงศักดิ์กล่าว
ดร.ภาสรีเสริมว่า “เมื่อใช้งานไปแล้วก็ยังสามารถนำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้อีกด้วย แม้กระทั่งส่วนของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตก็สามารถนำเข้าเครื่องบด (crusher) แล้วนำมาฉีดขึ้นรูปได้ใหม่ได้เช่นเดียวกับพลาสติก ซึ่งจัดว่าเป็นข้อดีที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ยางทั่วไป”
สำหรับเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) แม้จะมีมอก. 2899-2561 กรวยพลาสติกกั้นจราจร แต่มาตรฐานนี้ไม่รวมกรวยจราจรที่ทำจากวัสดุอื่น ซึ่งรวมถึงยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกด้วย ดังนั้น ทีมวิจัยนอกจากจะดำเนินการวิจัยเชิงเทคนิคแล้ว ยังมีส่วนร่วมในการผลักดันมาตรฐานอุตสาหกรรมที่ใช้ทดสอบอีกด้วย
ดร.ภาสรีกล่าวว่า “การที่ทีมวิจัยดำเนินงานมาระยะหนึ่งก็เห็นความเป็นไปได้ที่จะมีการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี จึงเขียนขอทุนจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อทำโครงการจัดทำ (ร่าง) มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของกรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก เพื่อให้ครอบคลุมกรวยยางผสมพลาสติก ซึ่ง กยท. ก็ได้ให้การสนับสนุนและอนุมัติโครงการดังกล่าวแล้ว ทีมวิจัยจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี (ปี 2565) โดยจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามามีส่วนร่วมออกความคิดเห็นด้วย”
อุปสรรคที่ต้องก้าวข้าม
การพัฒนางานวิจัยกรวยจราจรจากยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการจนกระทั่งถึงระดับอุตสาหกรรมที่มีการจำหน่ายและใช้งานจริงนั้นย่อมมีอุปสรรคที่ต้องก้าวข้าม ดร.ภาสรีเล่าว่า “ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกถูกคิดค้นในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 และมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย เมื่อเรียนจบกลับมาทำงานที่ประเทศไทยก็ได้ต่อยอดองค์ความรู้นี้จนคิดว่าน่าจะมีศักยภาพพอที่จะขยายผลการใช้งานจึงมีการนำเสนอผลงานในเวทีต่าง ๆ ทั้งจัดสัมมนาและอบรมเชิงปฏิบัติการ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ อาจเพราะในช่วงเวลานั้นยังไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องใช้วัสดุนี้ประกอบกับยังไม่สามารถแข่งขันกับราคาของวัสดุที่มาจากปิโตรเคมีได้ ทำให้ผลักดันไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ยาก”
“ต่อมาเริ่มมีบริษัทเอกชนสนใจว่าเราสามารถฉีดยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกซึ่งเป็นวัสดุนิ่มไปบนวัสดุแข็งด้วยกระบวนการโอเวอร์โมลดิงเพื่อทำด้ามจับแบบนุ่ม (soft grip) สำหรับใช้ในอุปกรณ์ที่ต้องรองรับแรงกระแทก หรือมือจับกันลื่นสำหรับอุปกรณ์ช่าง แฮนด์มอเตอร์ไซด์ หรือแปรงสีฟัน ซึ่งแม้ว่าจะสามารถทำได้แต่ก็ยังไม่คุ้มทุนและไม่มีตลาดรองรับ ดังนั้น แม้การวิจัยจะตอบโจทย์ตามที่ต้องการแล้ว แต่การนำเทคโนโลยีหรือวัสดุที่เกิดจากการวิจัยไปสู่ผู้ใช้งานจริงและการมีตลาดรองรับแบบครบวงจรเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมาก”
“การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ บริษัท ธนัทธร จำกัด ซึ่งมีความพร้อมทั้งในด้านธุรกิจ สามารถผลิตผลิตภัณฑ์จำหน่ายได้อย่างมีมาตรฐาน เพราะบริษัทฯ มีการควบคุมทุกอย่างอย่างเป็นระบบ มีตลาดรองรับ และมีบุคลากรที่มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างฉับไวทำให้การทำงานร่วมกันดำเนินได้อย่างราบรื่นและรวดเร็ว” ดร.ภาสรีกล่าว
คุณธงศักดิ์ กล่าวเสริมว่า “ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก ทีมวิจัยได้รับผลกระทบมากเนื่องจากโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่แถบจังหวัดสมุทรสาครและสมุทรปราการ การเดินทางเข้าออกโรงงานไม่สามารถทำได้จึงไม่สามารถดำเนินการในขั้นตอนการผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ทำให้งานล่าช้าไปบ้าง ทีมได้ปรับแผนการทำงาน โดยจัดทำสไลด์และวิดีโอนำเสนอผ่านช่องทางออนไลน์ เมื่อการระบาดทุเลาก็เชิญบริษัทฯ มาที่เอ็มเทค เพื่อดูการเตรียมวัตถุดิบ สารเคมีต่าง ๆ และกระบวนการผลิต เมื่อทุกอย่างพร้อมก็ดำเนินการผลิตจริงที่โรงงาน นอกจากนี้ ทีมช่างและฝ่ายเทคนิค ก็มีความชำนาญทั้งในเรื่องวัตถุดิบ เครื่องมือ เครื่องจักร ความรู้ด้านโพลิเมอร์ และกระบวนการขึ้นรูปทำให้เรียนรู้ได้เร็วช่วยลดระยะเวลาทำงานและได้ผลที่ดี”
ต่อยอดองค์ความรู้
การพัฒนายางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกสามารถนำไปผลิตผลิตภัณฑ์อื่นได้ คุณธงศักดิ์เล่าว่า “บริษัท ธนัทธร จำกัด สนใจขยายผลไปสู่ผลิตภัณฑ์จราจรประเภทอื่นด้วย ที่อาจจะใช้กระบวนการขึ้นรูปที่แตกต่างจากกรวยจราจรที่ใช้กระบวนการฉีดขึ้นรูป ดังนั้น ทีมวิจัยจะต้องปรับสูตรให้เหมาะกับกระบวนการขึ้นรูป เครื่องมือ และสมบัติของผลิตภัณฑ์เสียก่อนและจะขอนำเสนอในเวลาที่เหมาะสมต่อไป”
“นักวิจัยต้องรับฟังเสียงจากข้างนอกและต้องมีการสื่อสาร ต้องมองการตลาด และราคา อย่าคิดเพียงว่าจะผลิตอะไรให้ดีที่สุด เพราะอาจไม่ใช่สิ่งที่อุตสาหกรรมต้องการและอาจมีผลต่อราคาทำให้ไม่สามารถไปสู่การใช้งานจริงได้ การทำงานที่นี่ทำให้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้มากขึ้นเรื่อย ๆ การเป็นนักวิจัยไม่ใช่การให้ความรู้ฝ่ายเดียว เราต้องเรียนรู้จากผู้อื่นด้วย”
ดร.ภาสรี เล้ากิจเจริญ
ความประทับใจและสิ่งที่ได้รับจากการสร้างสรรค์ผลงาน
คุณธงศักดิ์กล่าวว่า “งานนี้ได้เห็นตั้งแต่เริ่มพัฒนาสูตร กระบวนการเตรียม กระบวนการขึ้นรูปสูตรโพลิเมอร์ให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เราพัฒนากันมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันนี้เป็นขั้นตอนของการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งทำให้เกิดความภาคภูมิใจว่างานของเราสามารถนำไปผลิตและใช้ได้จริง สามารถตอบโจทย์ของหน่วยงานและได้ทำหน้าที่ของนักวิจัยในการผลักดันงานวิจัยไปสู่กระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี”
ดร.ภาสรีกล่าวว่า “สิ่งที่ประทับใจคือเรามีอิสระในการทำงานระดับหนึ่งที่สามารถจะทำอะไรที่สำคัญและจำเป็นล่วงหน้า ในตอนนั้นเราคิดว่าจำเป็น แต่บ้านเรายังไม่พร้อมที่จะนำมาใช้งาน แต่เราก็ยังทำเรื่องนี้ต่อได้ อย่างไรก็ดี การจะพัฒนาสิ่งเหล่านี้ไปถึงจุดที่ใช้งานได้จริง นักวิจัยต้องรับฟังเสียงจากข้างนอกและต้องมีการสื่อสาร ต้องมองการตลาด และราคา อย่าคิดเพียงว่าจะผลิตอะไรให้ดีที่สุด เพราะอาจไม่ใช่สิ่งที่อุตสาหกรรมต้องการและอาจมีผลต่อราคาทำให้ไม่สามารถไปสู่การใช้งานจริงได้ การทำงานที่นี่ทำให้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้มากขึ้นเรื่อย ๆ การเป็นนักวิจัยไม่ใช่การให้ความรู้ฝ่ายเดียว เราต้องเรียนรู้จากผู้อื่นด้วย”
“นอกจากนี้ ยังประทับใจทีมที่ทำงานด้วยกันมาตั้งแต่เริ่มคือ คุณธิดารัตน์ (มากมูล) คุณนิลุบล (หรสิทธิ์) และคุณธงศักดิ์ ที่ทุ่มเทในการทำงานอย่างไม่ท้อถอย ทำงานแบบไม่สิ้นหวัง มีความเชื่อในสิ่งที่ทำ หากมีสิ่งใดไม่ดีก็ปรับ และเมื่องานเหมาะพอดีก็มีคนนำไปใช้ ดังนั้นการได้เรียนรู้และการทำงานร่วมกับทีมนี้คือสิ่งที่ประทับใจ” ดร.ภาสรีกล่าวสรุป
สนใจติดต่อ
ผู้ที่สนใจงานวิจัยและพัฒนา หรือ รับถ่ายทอดเทคโนโลยี งานวิจัยวัสดุยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกติดต่อได้ที่
คุณกัณฐมณี กลกานนท์
งานประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม
โทรศัพท์ 0 2564 6500 ต่อ 4782
โทรสาร 0 2564 6369
อีเมล: BDD@mtec.or.th
ผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์กรวยจราจรยางพาราติดต่อได้ที่
บริษัท ธนัทธร จำกัด
โทรศัพท์ 0 2902 1246-8 และ 089 920 4224
อีเมล: info@tanattorn.com
ขอบคุณข้อมูลจาก
ดร.ภาสรี เล้ากิจเจริญ และ คุณธงศักดิ์ แก้วประกอบ กลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)