ถุงมือยางเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นปลายน้ำของอุตสาหกรรมยางโดยผลิตจากน้ำยางข้น อุตสาหกรรมถุงมือยางของไทยมีสัดส่วนการใช้ยางธรรมชาติร้อยละ 10.88 ดังนั้นเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ยางสำเร็จรูปอื่นๆ อุตสาหกรรมถุงมือยางจึงนับว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งในแง่การสร้างมูลค่าเพิ่ม การจ้างแรงงาน และเป็นผลิตภัณฑ์ยางขั้นปลายน้ำที่สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกสูงเป็นอันดับที่ 2 รองจากผลิตภัณฑ์กลุ่มยางล้อรถยนต์
ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตถุงมือยางเพื่อการส่งออกเป็นอันดับที่ 2 ของโลก โดยมีส่วนแบ่งตลาดกว่าร้อยละ 18 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของโลก ในปี 2563 ประเทศไทยมีการส่งออกถุงมือยางคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 72,680 ล้านบาท และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ถุงมือยางทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทยโดยเฉพาะโรงงานผลิตถุงมือยางที่ปัจจุบันมีการขยายกำลังการผลิตและมีความต้องการใช้น้ำยางข้นเพิ่มมากขึ้น มีการคาดการณ์ว่าในช่วงปี 2563-2570 มูลค่าตลาดถุงมือยางของโลกจะขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 12.6 ต่อปี
ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบในเรื่องของวัตถุดิบต้นน้ำที่สามารถผลิตและส่งออกยางธรรมชาติเป็นอันดับ 1 ของโลก และมีชื่อเสียงในการผลิตถุงมือยางธรรมชาติคุณภาพดี อุตสาหกรรมถุงมือยางของไทยจึงมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ภาครัฐจึงกำหนดเป้าหมายผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตถุงมือยางธรรมชาติของโลกเนื่องจากความได้เปรียบในด้านคุณภาพวัตถุดิบยางของไทยและความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ยางของไทย โดยในเบื้องต้นมุ่งเน้นพัฒนานวัตกรรมการลดโปรตีนแพ้ในถุงมือยางธรรมชาติ และการสร้างมาตรฐานถุงมือยางในกระบวนการผลิตและการขอใบรับรองทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้อุตสาหกรรมถุงมือยางไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
ถุงมือยางมีกี่ประเภท?
ถุงมือยางมีการผลิตตามความต้องการใช้งานของตลาด โดยสามารถแบ่งประเภทตามลักษณะการใช้งานได้ 3 ประเภท ดังนี้
1. ถุงมือยางสำหรับใช้ในทางการแพทย์ มีทั้งแบบที่ใช้ในงานผ่าตัดและงานตรวจโรคทั่วไป มีเนื้อบาง เหนียว แข็งแรง และใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค ในกรณีถุงมือยางสำหรับการผ่าตัดจะต้องผ่านการฆ่าเชื้อ 100 % และส่วนใหญ่ผลิตจากน้ำยางธรรมชาติ
2. ถุงมือยางสำหรับใช้ในทางอุตสาหกรรม มีลักษณะเฉพาะตามการใช้งานในแต่ละอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมการกลึง ถุงมือยางต้องทนทานต่อสภาพการใช้งาน และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ถุงมือยางต้องบางและกระชับมือ เป็นต้น
3. ถุงมือยางสำหรับใช้ในครัวเรือน ควรมีเนื้อหนา และทนทานต่อสภาพการใช้งาน
ถุงมือยางมีขั้นตอนการผลิตอย่างไร?
การผลิตถุงมือยางโดยทั่วไปมักใช้กระบวนการจุ่ม (Dipping) โดยจุ่มแบบพิมพ์ลงในน้ำยางคอมปาวด์ (Compound latex) แบบพิมพ์มีทั้งแบบที่ผลิตจากวัสดุโลหะ พลาสติก เซรามิก แก้ว และอะลูมิเนียม และมีลักษณะรูปทรงตามผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ ส่วนน้ำยางคอมปาวด์มีส่วนผสมของน้ำยางข้นและสารเคมีต่างๆ แตกต่างกันตามความเหมาะสมกับแต่ละผลิตภัณฑ์ หลังจากน้ำยางคอมปาวด์จับตัวที่ผิวของแบบพิมพ์แล้วค่อยๆ ยกแบบพิมพ์ขึ้น นำไปอบแห้งพอหมาด ล้างสารเคมีที่ตกค้างออก อบแห้งอีกครั้ง แล้วถอดออกจากแบบพิมพ์
จุดเด่นของถุงมือยางธรรมชาติคืออะไร?
ถุงมือยางที่ผลิตจากยางธรรมชาติมีจุดเด่นในด้านความยืดหยุ่นและความทนทาน ไม่ฉีกขาดง่าย จึงนิยมนำไปใช้เป็นถุงมือยางทางการแพทย์ และในปัจจุบันผู้ผลิตถุงมือยางเปลี่ยนมาใช้น้ำยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมีราคาถูกกว่ายางสังเคราะห์
ปัญหาที่พบในการผลิตถุงมือยางธรรมชาติคืออะไร?
น้ำยางธรรมชาติโดยทั่วไปจะมีโปรตีนเป็นองค์ประกอบอยู่ประมาณ 1% โดยน้ำหนักยาง การนำน้ำยางธรรมชาติมาผลิตเป็นถุงมือยางจะมีขั้นตอนการล้างโปรตีนออกจากถุงมือยาง อย่างไรก็ดีในทางปฏิบัติไม่สามารถล้างโปรตีนออกได้ทั้งหมด และยังคงมีโปรตีนเหลือค้างที่มีขนาดโมเลกุลในช่วง 4.7-115 KDa เช่น Hev b1, Hev b5 และ Hev b6.02 โปรตีนเหล่านี้ทำให้เกิดภูมิแพ้ในกลุ่มผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติ
ผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติโปรตีนต่ำคืออะไร?
ผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติโปรตีนต่ำ (enR/ProX) เป็นผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติที่ทีมวิจัยน้ำยางและวัสดุยาง กลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยางของเอ็มเทคได้วิจัยและพัฒนาขึ้นเพื่อลดปริมาณโปรตีนที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้และยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติ ทำให้สามารถแข่งขันได้กับผลิตภัณฑ์ถุงมือยางสังเคราะห์
ผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติโปรตีนต่ำ มีปริมาณโปรตีนละลายน้ำน้อยกว่า 25 µg/dm2 และปริมาณโปรตีนที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้น้อยกว่า 1 µg/dm2 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ASTM D3578-05 นอกจากนี้ยังมีสมบัติเชิงกล (ก่อนและหลังบ่มเร่ง) เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ISO 11193-1 : 2008, EN 455 และ ASTM D3578-05
กลุ่มผู้ใช้งานและผู้ได้รับประโยชน์จากงานวิจัยนี้มีใครบ้าง?
กลุ่มผู้ใช้งานและผู้ได้รับประโยชน์รวมถึงกลุ่มเป้าหมายเพื่อขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตถุงมือยางทางการแพทย์จากยางธรรมชาติ เช่น ถุงมือยางสำหรับใช้ในงานผ่าตัดและตรวจโรค กลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายเคมียาง กลุ่มโรงพยาบาล สถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ใช้งานทั่วไป และผู้ที่มีอาการแพ้โปรตีนในยางธรรมชาติ
สถานภาพงานวิจัยในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง?
ปัจจุบันงานวิจัยอยู่ระหว่างการทดลองทางคลินิกและขยายผลทดสอบการผลิตระดับอุตสาหกรรมร่วมกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง และได้ยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญา ในรูปแบบคำขออนุสิทธิบัตร เลขที่ 2003001903 ชื่อคำขอ “กรรมวิธีการลดปริมาณโปรตีนละลายน้ำและโปรตีนที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ในผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ”
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ
ฉวีวรรณ คงแก้ว (นักวิจัยอาวุโส)
ทีมวิจัยน้ำยางและวัสดุยาง กลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง
โทรศัพท์ 02 564 6500
E-mail : chaveer@mtec.or.th