เรียบเรียงโดย คุณสรนันท์ ตุลยานนท์
ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี
ภาพรวมของสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของโลกเป็นอย่างไร?
สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีนั้น เป็นเป้าหมายที่ 3 ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งสหประชาชาติร่วมกันกำหนดขึ้น เป็นวาระการพัฒนาระดับโลกที่ต้องบรรลุให้ได้ภายในปี 2030
นิยามของคำว่าสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีเป็นอย่างไร?
ในธรรมนูญสุขภาพขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ทำงานเกี่ยวกับระบบสุขภาพโลกนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 ได้นิยามว่าสุขภาพ (health) คือสภาวะความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางกาย จิต และสังคม โดยมิได้จำกัดอยู่เพียงแค่การปราศจากโรคและความพิการ (health is a state of complete physical, mental and social well-being and not merely the absence of the disease and infirmity) ซึ่งเป็นนิยามที่ครอบคลุมใน 3 มิติสำคัญของชีวิตมนุษย์ แต่ในภายหลังได้เพิ่มเติมมิติอื่นๆ เข้ามา เช่น มิติทางสติปัญญา มิติทางอารมณ์ เป็นต้น
ส่วนความเป็นอยู่ที่ดี (wellness) คือความสมดุลในทุกมิติของบุคคลหนึ่งๆ เรามีความเป็นอยู่ที่ดีได้เมื่อบุคคลดังกล่าวต้องการที่จะมีชีวิตที่สมดุลโดยเลือกทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้เกิดสุขภาพที่สมบูรณ์ ความเป็นอยู่ที่ดีส่งผลโดยตรงกับสุขภาพโดยรวม
อะไรคือความแตกต่างระหว่าง สุขภาพ และ ความเป็นอยู่ที่ดี?
คำว่า สุขภาพ และ ความเป็นอยู่ที่ดี มักจะเขียนมาพร้อมกัน หรือใช้แทนกัน แต่ทั้งสองคำนี้มีความหมายแตกต่างกันพอสมควร โดยสุขภาพคือเป้าหมาย ส่วนความเป็นอยู่ที่ดีคือกระบวนการที่ทำให้ไปถึงเป้าหมาย สุขภาพดีคือสภาพที่ร่างกายปราศจากโรค ในขณะที่ ความเป็นอยู่ที่ดีคือความสมดุลในทุกมิติ
สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีมีความสำคัญอย่างไร?
สำคัญเพราะมีผลโดยตรงต่อปัจเจกบุคคล ซึ่งจะส่งผลต่อไปยังชุมชน สังคม เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ประเทศ และโลกในภาพรวม
ความเป็นอยู่ที่ดีประกอบด้วยมิติอะไรบ้าง?
ในระยะแรก องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้เพียง 3 มิติ คือ กาย จิต และสังคม ต่อมามีความสนใจศึกษาเพิ่มขึ้นทั่วโลก จึงมีการเสนอมิติอื่นๆ เพิ่มขึ้น ในปัจจุบันมิติของความเป็นอยู่ที่ดีที่นิยมกล่าวถึง มี 8 มิติ คือ กาย (physical), จิต (spiritual), สังคม (social), อารมณ์ (emotional), สติปัญญา (intellectual), อาชีพการงาน (occupational), สภาพการเงิน (financial) และสภาพแวดล้อม (environmental)
แผนภาพต่อไปนี้เสนอโดย DaisyFig – Own work, CC BY-SA 4.0
มีคำว่าสุขภาพ (health) และความเป็นอยู่ที่ดี (wellness)แล้ว ถ้าเช่นนั้นคำว่า good health กับ well-being หมายถึงอะไร ?
Good health นั้น ภาษาไทยคือ สุขภาพดี หมายถึงปราศจากโรคภัย จึงสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องพะวงใดๆ ส่วน well-being คือสุขภาวะ มีความหมายเชิงบวกของการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม เป็นเรื่องของสังคม อาจเข้าใจกันและเรียกอีกนัยหนึ่งคือความเป็นอยู่ที่ดี สุขภาวะคือสุขภาพดีในความหมายที่กว้างขึ้น เพราะพิจารณาเชื่อมโยงสุขภาพทางกาย จิตใจ สังคม และมิติอื่นๆ รวมกัน
วิธีทำให้เกิดสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดี ทำได้อย่างไร?
สุขภาวะไม่ได้จำกัดว่าเกิดขึ้นได้เฉพาะกับผู้ที่สุขภาพดีไม่มีโรคภัยเท่านั้น แม้ในผู้ที่กำลังเจ็บป่วยก็สามารถมีสุขภาวะ (มีความสุข) ได้ กลยุทธ์ที่จะช่วยให้บุคคลบรรลุถึงสุขภาวะอย่างยั่งยืนได้นั้น ต้องอาศัยการดำเนินการอย่างครอบคลุมใน 3 ระดับ ได้แก่
ระดับที่ 1: การสร้างความตระหนักให้ทุกคนเห็นคุณค่าและความสำคัญของการมีสุขภาวะ
ระดับที่ 2: การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต
ระดับที่ 3: สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ
มูลค่าการตลาดโดยรวมของอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในระดับโลก เป็นอย่างไร?
Global Wellness Institute ได้ประมาณมูลค่าของอุตสาหกรรมนี้ไว้ราว 4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ($4.5 trillion) ในปี 2022 และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือในช่วงปี 2022-2024 ประมาณว่ามูลค่าจะเพิ่มอีกราว 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
ในระยะ 5 ปีข้างหน้า แนวโน้มมูลค่าการตลาดของอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีจะเป็นอย่างไร?
หลายหน่วยงานได้ประมาณการมูลค่าไว้แตกต่างกันบ้าง แต่แน่นอนว่าอุตสาหกรรมด้านสุขภาพจะขยายตัวในอัตราที่สูงมาก โดย PeC (Price water house Coopers) คาดการณ์ว่าตลาดใน Asia-Pacific จะเติบโตอีกราว 40% ในปี 2023 และมีมูลค่ามากกว่าตลาดในอเมริกาเหนือ โดยตลาดของ digital wellness นั้น คาดว่าจะเติบโตถึง 220.94 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2026 เพราะในปี 2022 เฉพาะตลาดของ wearable devices จะมีมูลค่า 24 พันล้านเหรียญสหรัฐ
กลุ่มอุตสาหกรรมด้านสุขภาพที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงในโลกมีอะไรบ้าง?
McKinsey Research ได้สำรวจในหัวข้ออนาคตของความเป็นอยู่ที่ดี (future of wellness) พบว่าผู้บริโภคมีความสนใจมากในเรื่องต่อไปนี้ ได้แก่ สุขภาพที่ดีขึ้น (better health), สมรรถภาพทางกายที่ดีขึ้น (better fitness), โภชนาการที่ดีขึ้น (better nutrition), รูปลักษณ์ที่ดีขึ้น (better appearance), การนอนหลับที่ดีขึ้น (better sleep) และการมีสติที่ดีขึ้น (better mindfulness)
ข้อมูลอ้างอิง:
1. https://globalwellnessinstitute.org/industry-research/2022-global-wellness-economy-country-rankings/
2. https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=59622349