สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย งานพัฒนาคุณภาพการเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ
ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี
“เราต้องการพัฒนาเต็นท์ที่มีราคาย่อมเยา เหมาะสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน ตอบโจทย์แนวปฏิบัติใหม่ เต็นท์ต้องติดตั้งง่าย ใช้เวลาในการติดตั้งน้อย มีหลายขนาดให้เลือกตามพื้นที่ใช้งาน แต่ยังคงมีมาตรฐานทั้งเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัย”
ดร. ศราวุธ เลิศพลังสันติ
หัวหน้าทีมวิจัยการออกแบบเพื่อการเป็นอยู่ที่ดี
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)
ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ และคณะ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) พัฒนานวัตกรรมเต็นท์ไฮพีท (HI-PETE: patient isolation chamber for home isolation) หรือ เต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วยที่ช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อ สามารถติดตั้งและรื้อถอนได้ง่าย มีรูปแบบและขนาดที่หลากหลาย จึงเหมาะที่จะใช้ได้ทั้งที่บ้านและสถานพยาบาล
เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับมาตรการการดูแลผู้ป่วยให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 เพื่อลดอัตราการครองเตียงและสำรองเตียงไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง โดยผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีอาการรุนแรงให้สามารถกักตัวที่บ้าน (Home Isolation, HI) หรือในชุมชน (Community Isolation, CI) ได้ อย่างไรก็ดี การกักตัวที่บ้านอาจมีข้อจำกัด เช่น ไม่มีห้องส่วนตัว พื้นที่แคบไม่สามารถนอนแยกห่างจากผู้อื่นได้ หรือการระบายอากาศไม่ดี ซึ่งอาจทำให้การกักตัวที่บ้านไม่สามารถทำได้จริง เสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่นๆ ภายในบ้านได้
กำเนิด HI-PETE
ดร. ศราวุธ เลิศพลังสันติ หัวหน้าทีมวิจัยการออกแบบเพื่อการเป็นอยู่ที่ดี ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เล่าถึงที่มาของการพัฒนาเต็นท์ HI-PETE ว่า “ปลายปี 2564 ทีมวิจัยได้พัฒนาเปลความดันลบ (PETE) และส่งมอบให้แก่สถานพยาบาลต่างๆ จึงมีโอกาสได้พูดคุยกับแพทย์และพยาบาลหลายท่าน ทำให้ได้รับทราบข้อความที่สำคัญคือ ‘โควิดคงไม่หมดไป เรายังคงต้องใช้ชีวิตร่วมกับโควิดต่อไป’ แต่รูปแบบของการดูแลรักษาผู้ป่วยอาจมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เช่น กลุ่มผู้ป่วยสีเขียวหรือผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนักจากเดิมที่เคยรักษาที่โรงพยาบาลก็ปรับเปลี่ยนเป็นรักษาตัวที่บ้าน หรือในกรณีที่การรักษาตัวที่บ้านมีข้อจำกัดก็เป็นการรักษาในชุมชน (Community Isolation, CI) แทน”
ทีมวิจัยได้ลงพื้นที่ที่ศูนย์พักคอยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้และโรงพยาบาลสันทรายที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็น CI ที่มีการบริหารจัดการหลายอย่าง ทำให้ทีมวิจัยได้รับทราบถึงปัญหาที่พบในสถานการณ์จริงและความต้องการที่จะให้ช่วยแก้ปัญหา เช่น การกักตัวที่บ้านอาจทำไม่ได้จริงเนื่องจากสถานที่ไม่อำนวย กรณีที่ต้องใช้ห้องฉุกเฉินในการรักษาผู้ป่วยโควิดและผู้ป่วยทั่วไปพร้อมกัน โรงพยาบาลต้องดัดแปลงห้องฉุกเฉินโดยใช้แผ่นพลาสติกมากั้นห้องเพื่อแยกผู้ป่วยออกจากกันแต่ไม่ได้มีการบำบัดอากาศ หรือกรณีที่ต้องการห้องสำหรับแยกผู้ป่วยโควิดหรือผู้ที่มีความเสี่ยงสูงออกจากผู้ป่วยทั่วไปในช่วงที่มารอพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เป็นต้น
ที่มาของภาพ โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ
การดัดแปลงห้องฉุกเฉินโดยใช้แผ่นพลาสติกมากั้นห้องเพื่อแยกผู้ป่วยโควิดออกจากผู้ป่วยทั่วไปแต่ไม่ได้มีการบำบัดอากาศ
ทีมวิจัยจึงเริ่มศึกษาวิธีการแก้ปัญหารวมถึงเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทำให้เกิดแนวคิดในการปรับรูปแบบของเปลความดันลบสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิดมาเป็นห้องความดันลบ ทีมวิจัยยังได้สำรวจเต็นท์ความดันลบที่ใช้กันอยู่ทั่วไปพบว่ายังมีจุดด้อยหลายประการ เช่น ติดตั้งค่อนข้างยาก ชิ้นส่วนมีจำนวนมาก มีขนาดใหญ่ทำให้ไม่ตอบสนองการใช้งานในกรณีฉุกเฉิน ไม่มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางการแพทย์ บำรุงรักษายาก และมีราคาสูง
ดร.ศราวุธกล่าวว่า “เราเก็บประเด็นทั้งหมดมาออกแบบห้องความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วยให้สามารถใช้งานได้ทั้งที่บ้านและโรงพยาบาล โดยใช้ประสบการณ์เดิมจากที่เคยออกแบบพีทเปลความดันลบมาพัฒนาเต็นท์ความดันลบที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ เราอาศัยผู้ประกอบการที่มีเครือข่ายอยู่แล้ว และปรับรูปแบบจากเปลแคปซูลมาเป็นเต็นท์ ซึ่งก็มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาร่วมด้วย”
แนะนำ HI-PETE
ทีมวิจัยได้รับทุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เพื่อพัฒนาเต็นท์รุ่นแรก คือรุ่นคอมแพ็ค (COMPACT) ซึ่งเต็นท์รุ่นนี้มีขนาดเล็ก พกพาง่าย ทีมวิจัยนำเต็นท์ทั่วไปมาดัดแปลง จนกระทั่งเห็นความเป็นไปได้จึงติดต่อกับผู้ประกอบการเพื่อให้ช่วยผลิตตัวเต็นท์ตามที่ทีมได้ออกแบบในราคาที่ไม่แพง ทำให้ได้เต็นท์ที่มีระบบบำบัดอากาศ สามารถติดตั้งได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่เกิน 5 นาทีด้วยคน 2 คน เต็นท์นี้มีขนาดกว้าง 2.4 เมตร x ยาว 2.4 เมตร x สูง 1.8 เมตร สามารถวางเตียงได้ คนยืนได้ โดยผู้ใหญ่ 1 คนอยู่ร่วมกับเด็กได้อีก 1 คน เป็นอย่างมาก เหมาะสำหรับใช้งานที่บ้านหรือโรงพยาบาลสนามที่ต้องตั้งเต็นท์จำนวนมาก
ภาพจาก https://www.nstda.or.th/home/news_post/pr-mtec-hipete/
เต็นท์รุ่นคอมแพ็ค (COMPACT)
เต็นท์รุ่นที่ 2 คือรุ่นบอลลูน (BALLOON) รุ่นนี้มีจุดเด่นที่ออกแบบให้ติดตั้งง่ายและเร็วด้วยคนเพียงคนเดียวโดยใช้ปั๊มลม ซึ่งเต็นท์พองลมได้ภายในเวลาไม่เกิน 3 นาที มีขนาดกว้าง 2.0 เมตร x ยาว 1.5 เมตร x สูง 1.8 เมตร ผนังเต็นท์มีความใสทำให้แพทย์และพยาบาลเห็นผู้ป่วยได้ตลอดเวลา เหมาะกับใช้ในโรงพยาบาลสนาม หรือติดตั้งในห้องพิเศษหรือห้องฉุกเฉิน สามารถทำหัตถการได้เพราะมีช่องถุงมือ
ภาพจาก https://www.nstda.or.th/home/news_post/pr-mtec-hipete/
เต็นท์รุ่นบอลลูน (BALLOON)
ส่วนเต็นท์รุ่นที่ 3 รุ่นแกรนเด (GRANDE) รุ่นนี้เป็นเต็นท์ขนาดกว้าง 2.0 เมตร x ยาว 3.0 เมตร x สูง 2.0 เมตร ใช้เวลาติดตั้ง 15 นาทีด้วยคน 4 คน สามารถกั้นเป็นห้อง Anteroom[1] ได้ ใช้เปลพีทเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าไปภายในได้ และแพทย์สามารถเข้าไปทำหัตถการได้จึงเหมาะสำหรับใช้ดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มรูปแบบ เต็นท์รุ่นนี้พิเศษว่ารุ่นอื่นๆ คือ มีระบบควบคุมอัจฉริยะ (smart controller) เพื่อแสดงค่าความดันลบภายในเต็นท์ ช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้ว่าเต็นท์มีความดันในระดับที่ใช้งานได้อย่างปลอดภัยแล้ว
[1] ห้อง Anteroom คือ ห้องที่มี 2 ชั้นอยู่ภายในเต็นท์ ซึ่งมีการบำบัดอากาศที่แตกต่างกัน เช่น กรณีของเต็นท์รุ่นแกรนเด ห้อง Anteroom จะมีความดัน -2 พาสคัล (pascal) ในขณะที่ห้องอีกชั้นจะตั้งไว้ที่ -6 พาสคัล หรือหากต้องการให้บำบัดอากาศมากขึ้นก็สามารถตั้งที่ -7 พาสคัลได้ ซึ่งเกณฑ์ของโรงพยาบาลบำราศนราดูรจะกำหนดไว้ที่ -5 พาสคัลเป็นอย่างต่ำ
ภาพจาก https://www.nstda.or.th/home/news_post/pr-mtec-hipete/
เต็นท์รุ่นแกรนเด (GRANDE) ที่สามารถใช้เปลพีทเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าไปภายในได้
การให้คำแนะนำในการติดตั้งเต็นท์รุ่นแกรนเด (GRANDE) ที่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ
อย่างไรก็ดี แม้เต็นท์ทั้ง 3 รุ่นจะมีรูปลักษณ์และขนาดที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่มีเหมือนกันคือการใช้กล่องระบบความดันลบแบบเดียวกันเพื่อให้ควบคุมต้นทุนได้ ระบบนี้มีประสิทธิภาพความดันลบ อัตราการแลกเปลี่ยนอากาศ และประสิทธิภาพการกรองเชื้อเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยทางไฟฟ้า
ดร.ศราวุธ กล่าวว่า “เรื่องของประสิทธิภาพคือความสามารถในการกรองเชื้อ ซึ่งจะมีมาตรฐานของห้องสะอาด ISO14644 (cleanrooms and associated controlled environments) มากำกับ การตรวจสอบมาตรฐานนี้ทำโดยปล่อยอนุภาคในอากาศขาเข้า และดูว่าสามารถกรองอนุภาคเหล่านี้ได้จริงตามที่ระบุไว้หรือไม่ ซึ่งเราระบุไว้ว่าแผ่นกรองประสิทธิภาพสูง (HEPA filter) สามารถกรองอนุภาคขนาด 0.3 ไมโครเมตรได้อย่างมีประสิทธิภาพถึง 99.995%”
“ส่วนเรื่องความปลอดภัยทางไฟฟ้า เครื่องมือแพทย์ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะต้องไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยและผู้ใช้งาน ซึ่งเราได้ส่งทดสอบที่ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Electrical and Electronic Products Testing Center (Thailand), PTEC)”
เมื่อถามถึงความแตกต่างของเต็นท์ทั้ง 3 รุ่นนี้กับเต็นท์ที่ใช้กันทั่วไปหรือเต็นท์ที่จำหน่ายในเชิงพาณิชย์ ดร.ศราวุธ อธิบายว่า “เต็นท์ที่ใช้งานทั่วไปหรือมีจำหน่ายในเชิงพาณิชย์จะมีลักษณะคล้ายกับเต็นท์มีขนาดใหญ่อย่างรุ่น แกรนเด คือโครงสร้างทำจากอะลูมิเนียม เหล็ก หรือท่อประปาพีวีซี เราเคยทดลองประกอบเต็นท์จากท่อประปาพีวีซีพบว่า ราคาของวัสดุที่ใช้จะประมาณสองหมื่นกว่าบาท หรือเต็นท์รุ่นที่แข็งแรงมากขึ้นจะใช้ตู้ขนส่งสินค้า (container) ก็ยิ่งทำให้มีราคาต้นทุนที่สูงขึ้นอีก ทำให้โรงพยาบาลบางแห่งที่อาจมีงบประมาณไม่มากนักเข้าถึงยาก รวมถึงปัญหาเรื่องพื้นที่ที่จะติดตั้งและเวลาในการติดตั้งที่นานไม่เหมาะกับการใช้ในกรณีฉุกเฉิน จากข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้เราต้องการพัฒนาเต็นท์ที่มีราคาย่อมเยา เหมาะสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน ตอบโจทย์แนวปฏิบัติใหม่ เต็นท์ต้องติดตั้งง่าย ใช้เวลาในการติดตั้งน้อย มีหลายขนาดให้เลือกตามพื้นที่ใช้งาน แต่ยังคงมีมาตรฐานทั้งเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัย”
เส้นทางสู่เป้าหมาย
การทำงานของทีมวิจัยจะศึกษาเชิงทฤษฎีก่อนเพื่อนำมาใช้ออกแบบ วิเคราะห์ คำนวณ และสร้างต้นแบบให้เร็วที่สุด ดร.ศราวุธเล่าว่า “ต้นแบบ 3 รุ่นแรก ได้แก่ เต็นท์สนาม เต็นท์แอร์ และเต็นท์พองลม ส่วนใหญ่จะเป็นเต็นท์ที่ซื้อสำเร็จรูป ยกเว้นรุ่นพองลมที่ให้ผู้ประกอบการที่เคยทำเปลพีทผลิตให้ เนื่องจากเขามีความเชี่ยวชาญในการผลิตแพแบบพองลมอยู่แล้ว การที่ใช้เต็นท์สำเร็จรูปเพราะตั้งใจให้ใช้สำหรับกักตัวที่บ้าน ดังนั้นจึงต้องมีราคาถูก หรือถ้ามีผู้บริจาคก็จะสามารถบริจาคได้จำนวนหลายหลังภายในวงเงินที่บริจาค”
ภาพจาก https://www.nstda.or.th/home/news_post/hi-pete-home-isoloation/
ต้นแบบ 3 รูปแบบของเต็นท์ HI PETE รุ่นแรก ได้แก่ เต็นท์สนาม เต็นท์แอร์ และเต็นท์พองลม
“เต็นท์หลังแรกที่ทำคือเต็นท์แอร์ที่มีสีฟ้า และเนื่องจากเป็นเต็นท์สำเร็จรูปเราจึงต้องให้ผู้ผลิตเพิ่มพลาสติกกันรั่วให้ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมหลักร้อยบาท โดยใช้แผ่นกรองประสิทธิภาพสูงเหมือนกับเปลพีท แต่มีขนาดใหญ่กว่าเพื่อจะได้มีประสิทธิภาพและการทำงานเหมาะสมกับปริมาตรของห้องที่มากขึ้น อย่างไรก็ดี เราพบข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น การอยู่ภายในเต็นท์สีฟ้าเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดอาการเวียนหัว เพราะแสงสว่างไม่เพียงพอและสีที่หลอกตา เราจึงพยายามปรับเปลี่ยนให้รุ่นอื่นโปร่ง ใช้แสงจริงของอาคาร เพื่อช่วยให้การทำงานภายในเต็นท์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
เมื่อถามถึงความท้าทายในการพัฒนาเต็นท์ความดันลบ ดร.ศราวุธ กล่าวว่า “ในเชิงเทคนิคความท้าทายคือเรื่องการออกแบบ เนื่องจากเต็นท์จะต้องรองรับความดันลบหรือแรงลมดูด ดังนั้นโครงสร้างต้องแข็งแรง อย่างเต็นท์รุ่นคอมแพ็คโครงสร้างจะยุบพอสมควร ส่วนรุ่นบอลลูนก็มีการปรับประมาณ 2-3 ครั้ง เมื่อก่อนเสาโครงจะใหญ่มาก เพื่อให้รองรับแรงลมดูดได้ แต่การที่เสามีขนาดใหญ่ก็จะเปลืองพื้นที่ติดตั้ง เหมือนบ้านที่มีเสาใหญ่ เมื่อวัดขนาดด้านนอกใช้พื้นที่เยอะแต่ด้านในแคบ เราจึงต้องออกแบบให้โครงสร้างเต็นท์แข็งแรง แต่มีน้ำหนักเบา ถอดออกมาเป็นชิ้นเล็กๆ สามารถพกพาได้ง่าย ต้องติดตั้งง่ายและรวดเร็วเพื่อให้เหมาะกับการใช้งานที่บ้านที่อาจมีคนติดตั้งไม่มากนัก หรือใช้ในโรงพยาบาลที่มีการใช้งานแบบเร่งด่วน เนื่องจากโรงพยาบาลบางแห่งอาจไม่มีพื้นที่ ซึ่งที่เคยทราบ ก็จะใช้การจัดการเวลาแทน เช่น วันคู่รักษาผู้ป่วยทั่วไป วันคี่รักษาผู้ป่วยโควิด เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่กระจายเชื้อ ส่วนการออกแบบอื่นๆ ก็เป็นการใช้องค์ความรู้เดิมจากการออกแบบเปลพีท เช่น เรื่องประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และรายละเอียดปลีกย่อยที่จำเป็นในการใช้งาน ซึ่งไม่ใช่ความท้าทายใหม่”
ดร.ศราวุธ ยังกล่าวถึงความท้าทายที่นอกเหนือจากด้านเทคนิคว่า “การที่เราต้องการพัฒนาเต็นท์ให้มีราคาย่อมเยา โดยตั้งเป้าราคาต้นทุนของเต็นท์ทั้ง 3 รุ่นไว้ไม่เกิน 50,000 บาท เนื่องจากทีมวิจัยมีประสบการณ์จากการทำมอดูลความดันลบมาก่อนจึงสามารถพัฒนาได้ในราคาที่ไม่แพงนัก ในขณะที่ราคาของตัวเต็นท์จะแพงกว่าเพราะใช้วัสดุค่อนข้างมาก และผู้ผลิตต้องทำขึ้นเป็นพิเศษ เช่น ติดพลาสติกกันลมรั่ว ติดผ้าม่านเพื่อให้มีความเป็นส่วนตัว หรือปรับเปลี่ยนตามที่ทีมวิจัยออกแบบ เราพูดคุยกับผู้ประกอบการประมาณ 4-5 รายที่ได้ทำงานร่วมกันให้ช่วยผลิตในราคาที่ไม่สูงนักแต่ผู้ประกอบการยังสามารถอยู่ได้ อย่างกรณีเต็นท์รุ่นคอมแพ็ค เราให้ผู้ประกอบการช่วยคิดราคาแบบหลายหลังแต่ทยอยผลิตทีละหลัง เพราะในช่วงของการพัฒนาอาจมีการปรับแก้บ่อย ดังนั้นการสร้างความสัมพันธ์กับผู้ประกอบการให้มีความมั่นใจที่จะทำงานร่วมกันจึงเป็นอีกความท้าทายหนึ่ง เพราะในระยะยาวผู้ประกอบการย่อมมีความคาดหวังว่าจะต้องผลิตในปริมาณที่ขายได้จริง”
การใช้งานจริง
ผลงานไฮพีทรุ่นแรกเริ่มสู่มือผู้ใช้งานจริงที่โรงพยาบาลไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 5 ชุด โดย โรงพยาบาลได้ติดตั้งตามจุดต่างๆ ได้แก่ ห้องฉุกเฉิน ห้องคลอด และโรงพยาบาลแม่โจ้ที่เป็นจุดแยกผู้ป่วยแบบ CI จำนวน 5 ชุด ส่วนรุ่นที่ 2 ได้ส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ, โรงพยาบาลเซนต์เมรี่ จังหวัดนครราชสีมา และโรงพยาบาลไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร
ดร.ศราวุธเล่าว่า “เราเริ่มจากโรงพยาบาล 3 แห่งนี้ก่อน โดยแต่ละที่มีความต้องการเต็นท์ไฮพีทอย่างน้อย 5 ชุด เราได้ส่งมอบให้อย่างน้อย 1 ชุดก่อน เพื่อในระหว่างนี้เราจะได้เก็บข้อมูลและนำกลับมาแก้ไข แล้วดูว่าแต่ละที่ต้องการเต็นท์รูปแบบไหน เช่น โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะต้องการเต็นท์แกรนเดจำนวน 3-4 ชุด โรงพยาบาลเซนต์เมรี่ จังหวัดนครราชสีมา ต้องการเต็นท์บอลลูนจำนวน 10 ชุด เราก็จะส่งมอบให้ตรงกับที่โรงพยาบาลแต่ละแห่งต้องการในปริมาณที่เหมาะสม นอกจากนี้ ดร.ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมสนับสนุนงานวิจัยโดยมอบเตียงสนามแอร์โรคลาส (Aeroklas) และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ฟูก ผ้าปู หมอน ผ้าห่ม ประกอบเข้าไปในเต็นท์ด้วยเพื่อให้พร้อมสำหรับการใช้งาน”
เมื่อถามถึงอายุการใช้งานและการซ่อมแซมหากเต็นท์เสียหาย ดร.ศราวุธ อธิบายว่า“เต็นท์ทุกรุ่นน่าจะใช้ได้อย่างน้อย 5 ปี เพราะการใช้งานเต็นท์ไม่ได้เคลื่อนย้ายหรือต้องพับเก็บบ่อยครั้งเหมือนกับเปลพีททำให้มีโอกาสที่จะเกิดความเสียหายได้น้อยกว่า อายุการใช้งานจึงนานกว่า แต่ในกรณีที่ได้รับความเสียหาย เช่น เต็นท์รุ่นคอมแพ็ค ซึ่งตัดเย็บจากผ้าไนลอนเมื่อเกิดการฉีกขาดก็สามารถเย็บซ่อมได้ ส่วนรุ่นบอลลูนทำจากผ้าพีวีซีเกรดเดียวกับที่ใช้ทำเปลพีทจึงสามารถปะซ่อมได้ หรือถ้าจะเปลี่ยนทั้งด้านก็สามารถทำได้เช่นกัน”
ภาพจาก https://www.nstda.or.th/home/news_post/pr-mtec-hipete/
บรรยากาศในพิธีมอบไฮพีทและพีทให้แก่โรงพยาบาลเซนต์เมรี่ จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565
การขยายผลสู่เชิงพาณิชย์
ทุนวิจัยจาก สวรส. จะมุ่งเน้นให้ไปสู่ขั้นการใช้ประโยชน์ (utilization) โดยขยายผลจากองค์ความรู้ที่มีอยู่ ดร.ศราวุธเล่าว่า “ในการทำโครงการเปลพีท ทีมวิจัยได้ทดลองพัฒนาเต็นท์ไฮพีทเพิ่ม เพื่อให้ สวรส. มีความมั่นใจว่าเราจะสามารถต่อยอดเทคโนโลยีได้ เรามองว่าเต็นท์ไฮพีทน่าจะเป็นรูปแบบของการตอบโจทย์ระยะยาวในการแก้ปัญหาโควิด-19 สวรส. จึงต้องการให้พัฒนาเต็นท์ในปริมาณที่สามารถเก็บข้อมูลการใช้งานได้อย่างเพียงพอก่อนที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชนและขยายการใช้งานให้แพร่หลายไปทั่วประเทศ”
ดร.ศราวุธ เล่าต่อว่า “จริงๆ มีบริษัทเอกชนหลายรายที่สนใจรับถ่ายทอดเทคโนโลยี เพราะเต็นท์เป็นที่ต้องการของโรงพยาบาลหลายแห่ง แต่เราอยากพัฒนาให้มั่นใจมากยิ่งขึ้นก่อนที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยนำไปติดตั้งเพื่อใช้งานจริงอย่างต่อเนื่องและเก็บข้อมูลจากผู้ใช้งาน ซึ่งการเก็บข้อมูลจะขึ้นกับจำนวนผู้ป่วย คือ ถ้ามีผู้ป่วยจำนวนมาก การเก็บข้อมูลจะทำได้เร็ว แต่ถ้ามีผู้ป่วยใช้งานจริงจำนวนน้อย การเก็บข้อมูลก็จะช้าลง ซึ่งทีมตั้งเป้าไว้ว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน (นับจากเดือนพฤษภาคม 2565) โดยไม่เน้นข้อมูลในเชิงปริมาณ แต่จะเน้นเชิงคุณภาพเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนามากที่สุด”
แผนงานในอนาคต
เนื่องจากเต็นท์ทั้ง 3 รุ่นในปัจจุบันใช้หลักการดึงอากาศจากภายนอกเข้ามาภายในทำให้อุณหภูมิภายในเต็นท์สัมพันธ์กับอากาศภายนอก คือ ถ้าภายนอกอากาศเย็น อากาศภายในเต็นท์ก็จะเย็นด้วย แต่ถ้าภายนอกอากาศร้อน อากาศภายในเต็นท์ก็จะร้อนด้วย ดังนั้น การใช้เต็นท์เป็นจุดพักคอยของผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่ติดตั้งไว้ภายนอกอาคารจึงกลายเป็นโจทย์ใหม่ที่จะต้องพัฒนาต่อไป
ดร.ศราวุธกล่าวว่า “โจทย์นี้มีความท้าทายในเรื่องการปรับอากาศเข้าไปภายในเต็นท์ โดยการเติมลมเย็นเข้าไปด้วยพัดลมหรือแอร์แบบตั้งลอย ซึ่งประเด็นนี้ก็จะทำให้มีค่าไฟฟ้าเพิ่มเข้ามา นอกจากนี้ตัวเต็นท์ต้องมีความทนทานต่อแดดและฝน ในกรณีนี้เต็นท์รุ่นคอมแพ็คจะมีความได้เปรียบรุ่นอื่นๆ เนื่องจากดัดแปลงจากเต็นท์ที่ใช้กลางแจ้งอยู่แล้ว”
นอกจากเปลพีทและเต็นท์ไฮพีทซึ่งเป็นห้องความดันลบที่ใช้ดูแลผู้ป่วยแล้ว ยังมีห้องความดันบวกที่ใช้ดูแลผู้ป่วยได้เช่นกัน ดร.ศราวุธกล่าวว่า “โจทย์อื่นที่ สวรส. สนใจคือ ห้องความดันบวกที่ใช้ป้องกันผู้ป่วยจากการติดเชื้ออื่นๆ โดยหลักการจะเป่าอากาศสะอาดเข้าไปเพื่อบำบัดอากาศภายใน ซึ่งทีมพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาต่อไป เนื่องจากในยุคนิวนอร์มัล (New Normal) นี้ เราจะต้องใช้ชีวิตร่วมไปกับโรค”
ทีมงานและความประทับใจที่ได้รับ
เบื้องหลังความสำเร็จของนวัตกรรมเปลพีทและเต็นท์ไฮพีทคือทีมวิจัย ดร.ศราวุธ เล่าถึงบทบาทของแต่ละคนว่า “ทีมวิจัยประกอบด้วยสมาชิกหลักอีก 7 คน ได้แก่ 1) พรพิพัฒน์ อยู่สา เป็นผู้จัดการโครงการ (project manager) ทำหน้าที่ดูภาพรวมของโครงการร่วมกับผม ดูแลเทคนิคในการประกอบ คุยกับผู้ประกอบการ และควบคุมต้นทุน 2) ดร.ฉัตรชัย ศรีสุรางค์กุล ดูแลเทคนิคเพราะเข้าใจเรื่องการสร้างระบบความดันลบดีที่สุด มีความแม่นยำในการออกแบบเชิงวิศวกรรมเรื่องของระบบปรับอากาศ 3) ณรงค์ฤทธิ์ สืบนันตา 4) ประสิทธิ์ วัฒนวงศ์สกุล 5) ธีระพงษ์ บุญมา ทั้ง 3 คนนี้เป็นวิศวกรที่เชี่ยวชาญเรื่องเครื่องกลและไฟฟ้า รับผิดชอบเรื่องการออกแบบ และการประกอบต้นแบบ 6) พีรกิตติ์ วิริยะรัตนศักดิ์ รับผิดชอบเรื่องวัสดุ ติดต่อกับผู้ประกอบการ และการทดสอบมาตรฐานต่างๆ 7) ฝอยฝน ศรีสวัสดิ์ ดูแลเรื่องการประสานงาน การจัดทำคู่มือ การดูแลภาพรวมของนวัตกรรมก่อนออกสู่หน่วยงานภายนอก”
ทีมวิจัยและตัวแทนผู้ใช้จากหน่วยงานต่างๆ
ตลอดระยะเวลาการวิจัยและพัฒนาเปลพีทจนกระทั่งเต็นท์ไฮพีท สิ่งที่ได้รับนอกเหนือจากนวัตกรรมแล้ว ยังมีความประทับใจเกิดขึ้นด้วย ดร.ศราวุธเล่าว่า “ความประทับใจแรกคือ ทีมวิจัย ทีมให้การสนับสนุนมาโดยตลอดและเสียสละมาอย่างต่อเนื่อง การทำงานอาจมีล้มเหลวบ้าง สำเร็จบ้าง เราก็ให้กำลังใจกันและกัน นอกจากนี้ ยังมีแหล่งทุนซึ่งเป็นหน่วยงานภายนอกที่ให้การสนับสนุน เพราะมีความเชื่อใจและเข้าใจเรา อย่างในช่วงใกล้จบโครงการเปลพีท ซึ่งเป็นช่วงที่สายพันธุ์โอไมครอน (Omicron) กำลังเริ่มระบาดมากขึ้น เราได้เสนอแนวคิดในการต่อยอดเทคโนโลยี ซึ่งแหล่งทุนก็ให้ความสำคัญเป็นกรณีเร่งด่วน และอีกความประทับใจคือ พี่ๆ และเพื่อนร่วมงานทุกภาคส่วนที่ให้การสนับสนุนในทุกรูปแบบ ทำให้ผมและทีมวิจัยรู้สึกดีใจที่เรามีทีมที่ใหญ่มาก”
สนใจติดต่อ
หากสนใจทดลองใช้และร่วมเก็บข้อมูลการใช้งานเพื่อให้ข้อเสนอแนะในการวิจัยพัฒนา ติดต่อ ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ และ คุณพรพิพัฒน์ อยู่สา อีเมล PETE@mtec.or.th
สำหรับผู้ที่ใช้เครื่องมือที่มีระบบปฏิบัติการ iOS, MacOS และ Windows (คอมพิวเตอร์) สามารถสแกน QR Code เพื่อดูตัวอย่างเต็นท์ด้วยเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริงหรือ AR (Augmented Reality) ได้
ขอบคุณข้อมูลจาก
ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ ทีมวิจัยการออกแบบเพื่อการเป็นอยู่ที่ดี ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)