สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย งานพัฒนาคุณภาพการเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ
ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี
ดร.ชัยวุฒิ กมลพิลาส และคณะ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับอาจารย์วรัญญา เตชะสุขถาวร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาเครื่องทดสอบเครื่องดื่มและอาหารสำหรับผู้มีปัญหาภาวะกลืนลำบาก อุปกรณ์นี้ใช้ตรวจสอบความข้นหนืดของเครื่องดื่มและเนื้อสัมผัสของอาหารว่าเป็นไปตามมาตรฐาน IDDSI ระดับใด เพื่อสร้างความมั่นใจในการเลือกเครื่องดื่มและอาหารที่เหมาะสมกับความสามารถในการกลืนของผู้ป่วยในการบริโภคอย่างปลอดภัย
ปัจจุบันสังคมโลกมีผู้สูงอายุและผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาภาวะกลืนลำบาก (dysphagia) สาเหตุของภาวะกลืนลำบากเกิดจากการเสื่อมถอยของอวัยวะภายในช่องปาก หรือเป็นโรคบางชนิด เช่น โรคมะเร็งที่คอหรือช่องปาก พาร์กินสัน (Parkinson) อัลไซเมอร์ (Alzheimer) สมองฝ่อ (Dementia) หรือหลอดเลือดสมอง (Stroke) ผู้ที่มีปัญหานี้จะมีความยากลำบากในการเคี้ยวและการกลืน ซึ่งอาจทำให้เกิดการสำลักจนมีโอกาสที่อาหารจะไปติดที่บริเวณคอหอยและเข้าไปในหลอดลมเกิดปอดติดเชื้อตามมาได้
แนวทางหนึ่งในการดูแลผู้ที่มีปัญหาภาวะกลืนลำบากคือ การเลือกเครื่องดื่มที่มีความข้นหนืดและอาหารที่มีการปรับเนื้อสัมผัสที่เหมาะสมกับผู้ป่วย โดยอ้างอิงความข้นหนืดของเครื่องดื่มและเนื้อสัมผัสของอาหารตามมาตรฐานที่มีการกำหนดไว้
ทีมวิจัยเอ็มเทคได้ดำเนินโครงการการพัฒนานวัตกรรมด้านอาหารสำหรับผู้ที่มีภาวะเคี้ยวและกลืนลำบาก โดยได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประจำปี 2565 ภายใต้กลุ่มโปรแกรมอาหารและส่วนผสมฟังก์ชันบนฐานการผลิตที่ยั่งยืน (Sustainable Food and Ingredients) โดยโครงการนี้ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่
1) การพัฒนาสารปรับรีโอโลยีสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารผู้สูงอายุและผู้มีภาวะกลืนลำบาก
2) การพัฒนาและต่อยอดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารจากเนื้อสัตว์ตามมาตรฐาน IDDSI (International Dysphagia Diet Standardisation Initiative) สำหรับผู้สูงอายุและผู้มีภาวะกลืนลำบาก
3) การผลิตและทดสอบประสิทธิภาพ Flow Tester และ Fork Tester ในระดับภาคสนาม
รู้จักมาตรฐานเครื่องดื่มและอาหารสำหรับผู้ที่มีปัญหาภาวะกลืนลำบาก
ดร.ชัยวุฒิ กมลพิลาส นักวิจัยอาวุโส และหัวหน้าโครงการวิจัย ทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหาร เอ็มเทค เล่าถึงมาตรฐานอาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้ที่มีปัญหาภาวะกลืนลำบากว่า
“เกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อสัมผัสของอาหารและเครื่องดื่มที่เหมาะสมกับผู้มีปัญหาภาวะกลืนลำบากถูกพัฒนาขึ้นครั้งแรกโดยประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 2002 เรียกว่า มาตรฐาน NDD (National Dysphagia Diet) หลังจากนั้นแต่ละประเทศก็พยายามจะมีเกณฑ์หรือมาตรฐานของตัวเอง ทำให้เกิดความหลากหลายของมาตรฐานและความสับสนต่อการใช้งาน จนกระทั่งปี ค.ศ. 2012 กลุ่ม stakeholders ที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีปัญหาภาวะกลืนลำบาก เช่น แพทย์ นักกำหนดอาหาร นักกิจกรรมบำบัด หรือนักวิชาการ จึงได้หารือกันและมีความเห็นตรงกันว่าควรมีเกณฑ์สากลที่สามารถใช้อ้างอิงได้ทั่วโลก ทำให้เกิดการพัฒนามาตรฐาน IDDSI ขึ้นเพื่อใช้เป็นเกณฑ์สากลโลก”
การทดสอบตามมาตรฐาน IDDSI ถูกออกแบบให้สามารถทำได้ง่าย สะดวก และไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือเชิงวิทยาศาสตร์ที่มีราคาสูง เพื่อผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนจากมาตรฐานเดิมมาใช้มาตรฐาน IDDSI ได้เหมือนกันทุกประเทศ มาตรฐาน IDDSI มีการจำแนกเครื่องดื่มและอาหารเป็น 8 ระดับ ตั้งแต่ระดับ 0-7 โดยใช้วิธีการทดสอบหลักที่เรียกว่า “Flow/Syringe Test” และ “Fork Pressure Test” สำหรับตัวอย่างเครื่องดื่มและอาหาร ตามลำดับ
มาตรฐาน IDDSI ใช้สัญลักษณ์เป็นสามเหลี่ยมที่มุมแหลมชี้ขึ้น สำหรับแบ่งกลุ่มเครื่องดื่มเป็นระดับ 0-4 ตามความข้นหนืดที่แตกต่างกัน โดยระดับ 0 คือ เหลว/ไม่หนืด (thin) ระดับ 1 คือ หนืดเล็กน้อย (slightly thick) ระดับ 2 คือ หนืดน้อย (mildly thick) ระดับ 3 คือ หนืดปานกลาง (moderately thick) ระดับ 4 คือ หนืดมาก (extremely thick)
ในทางตรงข้าม สัญลักษณ์สามเหลี่ยมมุมแหลมชี้ลงใช้สำหรับแบ่งกลุ่มอาหารเป็นระดับ 3-7 ตามลักษณะเนื้อสัมผัสของตัวอย่าง โดยระดับ 3 คือ เหลวข้น (liquidised) ระดับ 4 คือ บดละเอียด (pureed) ซึ่งระดับ 3-4 จะซ้อนทับกับเครื่องดื่ม ระดับ 5 คือ สับละเอียดและชุ่มน้ำ (minced & moist) ระดับ 6 คือ อ่อนและชิ้นเล็ก (soft & bite-sized) ส่วนระดับที่ 7 ยังแบ่งเป็นอีก 2 กลุ่มย่อยคือ เคี้ยวง่าย (easy to chew) และธรรมดา (regular)
ที่มา: https://iddsi.org/framework/
การแบ่งประเภทเครื่องดื่มและอาหารตามมาตรฐาน IDDSI
ดร.ชัยวุฒิ อธิบายวิธีการวัดว่า “มาตรฐาน IDDSI แบ่งตัวอย่างเครื่องดื่มหรือของเหลวเป็นระดับ 0-4 โดยใช้หลอดฉีดยาขนาด 10 มิลลิลิตรที่มีความยาวตั้งแต่ขีด 0 ml-10 ml เท่ากับ 61.5 มิลลิเมตร และมีปลายกระบอกเป็นแบบ Luer Slip จากนั้นใส่ตัวอย่างลงในหลอดฉีดยาให้ได้ปริมาตร 10 มิลลิลิตร และปล่อยให้ไหลเป็นเวลา 10 วินาที แล้วดูปริมาตรของเหลวที่เหลืออยู่ในหลอดฉีดยา ทำให้ระบุได้ว่าของเหลวนั้นมี IDDSI ระดับใด”
“ถ้าเป็น IDDSI ระดับ 0 คือเหลือของเหลวไม่ถึง 1 มิลลิลิตร, ระดับ 1 เหลือของเหลว 1-4 มิลลิลิตร, ระดับ 2 เหลือของเหลว 4-8 มิลลิลิตร, ระดับ 3 เหลือของเหลว 8-10 มิลลิลิตร แต่ถ้าของเหลวไม่ไหลออกเลย เบื้องต้นอาจจะอยู่ในระดับ 4 ได้ แต่เราต้องนำตัวอย่างนั้นไปทดสอบต่ออีก 2 วิธี คือ การหยดโดยใช้ส้อม (fork tilt test) และ การตะแคงช้อน (spoon tilt test)”
“การทดสอบจะใช้วิธีการหยดโดยใช้ส้อมก่อน ผู้ทดสอบใช้ส้อมตักตัวอย่างแล้วดูว่าของเหลวไหลผ่านส้อมได้หรือไม่ ถ้าไหลผ่านส้อมได้จะจัดในระดับ 3 แต่ถ้ายังคงอยู่บนส้อมต้องนำไปทดสอบต่อด้วยวิธีการตะแคงช้อน โดยตักตัวอย่างใส่บนช้อนแล้วตะแคงช้อนเพื่อดูว่าตัวอย่างไหลออกจากช้อนมากน้อยเพียงใด ถ้าไหลออกหมดโดยไม่มีสิ่งตกค้าง (residue) เหลือบนช้อนในปริมาณมาก ก็จะจำแนกให้อยู่ในระดับ 3 แต่ถ้ามีปริมาณสิ่งตกค้างบนช้อนน้อย หรือไม่มีเลย ก็จัดอยู่ในระดับ 4”
วิธีการทดสอบเครื่องดื่มตามมาตรฐาน IDDSI
ส่วนการทดสอบตัวอย่างอาหารว่าอยู่ใน IDDSI ระดับใดระหว่าง 5-7 ดร.ชัยวุฒิอธิบายว่า “วิธีการทดสอบตามมาตรฐาน IDDSI จะใช้ส้อมที่มีหน้ากว้าง 15 มิลลิเมตรและมีช่องว่างระหว่างซี่ส้อม 4 มิลลิเมตรในการกด แล้วดูลักษณะปรากฏของอาหารหลังถูกกดว่าเป็นอย่างไร ถ้าระดับ 5 ซึ่งเป็นอาหารที่ผ่านการสับหรือบดละเอียดมาแล้ว ตัวอย่างต้องมีขนาดอนุภาคไม่เกิน 4 มิลลิเมตรหรือช่องว่างระหว่างซี่ส้อม ระดับ 6 เมื่อกดส้อมลงไป ตัวอย่างจะฉีกขาดหรือแตกหักตามรอยของซี่ส้อม ส่วนระดับ 7 ตัวอย่างจะไม่เกิดการฉีกขาดเลยและกลับมาอยู่ในสภาพเดิมเหมือนก่อนกด แต่เนื่องจากระดับ 7 แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ Easy to Chew และ Regular จึงต้องทดสอบเพิ่มเติมด้วยการใช้สันส้อมตัดตัวอย่าง ถ้าสามารถตัดตัวอย่างขาดจะจัดอยู่ในกลุ่ม Easy to Chew แต่ถ้าไม่ขาดจะจัดเป็น Regular”
วิธีการทดสอบอาหารตามมาตรฐาน IDDSI
พัฒนาโดยแก้จุดอ่อน
การทดสอบตามมาตรฐาน IDDSI แม้จะเป็นวิธีที่ง่าย สะดวก และมีราคาถูก แต่ก็มีหลายประเด็นที่เป็นจุดอ่อน ดร.ชัยวุฒิ อธิบายว่า “ในการทดสอบ Flow/Syringe Test ผู้ทดสอบต้องใช้นิ้วอุดปลายหลอดฉีดยา และอาจต้องให้อีกคนช่วยเติมตัวอย่างและจับเวลา 10 วินาที ซึ่งเวลาค่อนข้างเร็วอาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนจากผู้ทดสอบได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อทำการทดสอบเพียงคนเดียว ดังนั้น หากต้องการผลที่แม่นยำขึ้นก็อาจต้องใช้ผู้ทดสอบมากกว่า 1 คน หรือต้องใช้เสายึดจับหลอดฉีดยาร่วมกับการถ่ายวิดีโอ ซึ่งทำได้ไม่สะดวกนัก”
“ส่วนการทดสอบด้วยวิธี Fork Pressure Test เนื่องจากส้อมที่ใช้ทั่วไปมีหลายขนาด หากผู้ทดสอบไม่ได้เลือกใช้ส้อมตามขนาดที่ IDDSI กำหนดก็จะทำให้ผลการทดสอบคลาดเคลื่อนได้ และในขั้นตอนการกด มาตรฐานกำหนดให้ผู้ทดสอบออกแรงกดจนเล็บเป็นสีขาว หรือความดันกดเฉลี่ยประมาณ 17 กิโลปาสคาล (kilopascal, kPa) ซึ่งผู้ทดสอบแต่ละคนอาจใช้แรงกดไม่เท่ากันขึ้นกับลักษณะจำเพาะของบุคคล เช่น สุขภาพร่างกาย เพศ หรืออายุ ทำให้ผลทดสอบที่ได้อาจแตกต่างกันมาก”
“นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารส่วนมากมักมีสมบัติวิสโคอิลาสติก (viscoelasticity) กล่าวคือแสดงพฤติกรรมที่คล้ายของเหลวหรือของแข็งโดยขึ้นกับเวลาหรือแรงที่กระทำ เช่น เมื่อเอานิ้วจุ่มน้ำ เราจะรู้สึกว่าน้ำมีลักษณะนิ่มคล้ายของเหลว เพราะมีแรงมากระทำต่อนิ้วเราน้อยมาก แต่ถ้าเรากระโดดลงน้ำโดยใช้ท้องลง เราจะรู้สึกเสมือนว่าน้ำเป็นของแข็ง มีแรงกระทำต่อเรามาก แสดงให้เห็นว่าช่วงระยะเวลาที่กระทำจะส่งผลต่อความรู้สึกที่ตอบสนองกลับมา ดังนั้น ถ้าเรากดตัวอย่างด้วยความเร็วที่ต่างกัน ตัวอย่างอาหารก็จะตอบสนองต่อแรงกระทำที่แตกต่างกันเช่นกัน”
ดร.ชัยวุฒิ ยังเสริมอีกว่า “จุดอ่อนอีกประเด็นคือ การทดสอบโดยใช้ส้อมกดไม่สามารถให้ข้อมูลเชิงตัวเลข (quantitative results) เช่น แรงที่ใช้ในการกดสัมพันธ์กับระยะการกดหรือเวลาที่ใช้ในการกด ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์เชิงวิชาการหรือเพื่อการพัฒนาสูตรอาหารอย่างเป็นระบบได้”
ทีมวิจัยเอ็มเทคได้เล็งเห็นจุดอ่อนของวิธีการทดสอบตามมาตรฐาน IDDSI แบบใช้คนทดสอบ ซึ่งอาจส่งผลต่อความถูกต้องในการจำแนกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและอาหารที่ผู้ผลิตจะต้องติดบนฉลาก ดังนั้น ทีมวิจัยจึงไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อหาแนวทางในการรับมือ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแลและให้การรับรองโดยตรง
ดร.ชัยวุฒิ เล่าว่า “วิธีการทดสอบแบบใช้คนอาจมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ±1 หรือ ±2 ระดับ ทำให้ อย. มีข้อสังเกตเรื่องความเที่ยงตรงของมาตรฐานในการวิเคราะห์ ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการขอรับรองการติดฉลากผลิตภัณฑ์อาหารตามเกณฑ์ IDDSI ได้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงเริ่มพัฒนาอุปกรณ์ทดสอบที่สามารถวิเคราะห์เนื้อสัมผัสของอาหารแต่ละแบบได้ตามเกณฑ์ IDDSI โดยให้ค่าที่เป็นมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น”
ทีมวิจัยได้ทำงานร่วมกับอาจารย์วรัญญา เตชะสุขถาวร ซึ่งเป็นกรรมการอยู่ในสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย (Thai Dietetic Association) ในการออกแบบและปรับปรุงคุณภาพของอุปกรณ์ทดสอบ ตามหลักแนวคิด ‘User-oriented Design’ โดยมีการพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และนำข้อเสนอแนะต่างๆ มาออกแบบ รวมถึงนำจุดอ่อนที่เกิดจากวิธีที่ใช้คนทดสอบมาแก้ไข เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้เครื่องมือได้สะดวกและได้ผลการทดสอบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ดร.ชัยวุฒิกล่าวว่า “เราพัฒนาเครื่องมือทั้งสองขึ้นเพื่อลดความผิดพลาดจากผู้ทดสอบ โดยออกแบบเป็นอุปกรณ์ตั้งโต๊ะที่มีขนาดกะทัดรัด แต่มีความแข็งแรง และมีน้ำหนักไม่สูงมาก สามารถเคลื่อนย้ายและติดตั้งในพื้นที่ใช้งานได้สะดวก มีกลไกการทำงานไม่ซับซ้อน สามารถใช้งานง่าย เพิ่มความสะดวกด้วยหน้าจอแบบสัมผัสหรือรีโมตคอนโทรล และสามารถสแกน QR Code เพื่ออ่านคู่มือการใช้งานได้ ณ จุดที่ทำการทดสอบ”
หน้าจอแสดงผลแบบสัมผัสของเครื่อง Fork Tester
นอกจากนี้ อุปกรณ์ทั้งสองยังมีรายละเอียดจำเพาะที่ทำให้เกิดมาตรฐานในการทดสอบที่ดีกว่าการใช้คนทดสอบ ยกตัวอย่างเช่น
เครื่อง Flow Tester จะมีช่องรองรับหลอดฉีดยาที่ได้ระนาบตั้งฉากกับฐานรอง สามารถล้างทำความสะอาดหลอดฉีดยาได้ง่าย มีระบบเปิด-ปิดการไหลอัตโนมัติตามระยะเวลาที่ตั้งทำให้ได้ผลการทดสอบที่แม่นยำมากขึ้น
ส่วนเครื่อง Fork Tester สามารถรองรับแรงกดได้สูงถึง 50 นิวตัน เพื่อรองรับแรงกดมาตรฐานที่อาจปรับเปลี่ยนไปในอนาคต (ปัจจุบันแรงกดมาตรฐานที่ใช้คือ 3.8 N ที่คำนวณจากความดันเฉลี่ยที่ 17 kPa คูณกับพื้นที่หน้าตัดของส้อมที่ใช้กด) โดยทีมวิจัยได้ออกแบบให้มีมอเตอร์ควบคุมการทำงาน มีหน้าจอแสดงผลตามเวลาจริง (real time) สามารถนำข้อมูลออกโดยการเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์เพื่อนำผลมาใช้งานเชิงวิชาการได้
วิดีโอแสดงการทดสอบ Flow/Syringe Test
วิดีโอแสดงการทดสอบ Fork Pressure Test
กลุ่มเป้าหมาย
ทีมวิจัยมุ่งเป้าไปที่หน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการเตรียมอาหารสำหรับผู้มีภาวะกลืนลำบาก เช่น โรงพยาบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วย สถาบันการศึกษา หรือบริษัทผู้ผลิตอาหารสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะกลืนลำบากที่ต้องการจะติดฉลากอย่างชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นเป็นตามมาตรฐาน IDDSI ระดับใด
ดังนั้น เอ็มเทคได้จัดกิจกรรมส่งมอบและอบรมการใช้งานต้นแบบอุปกรณ์ Flow Tester และ Fork Tester ให้แก่หน่วยงานนำร่องต่างๆ จำนวน 10 แห่ง ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการเตรียมอาหารสำหรับผู้มีภาวะกลืนลำบากเพื่อทดลองใช้เบื้องต้นก่อนแล้วจึงขยายผลต่อไป กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นในช่วงวันที่ 23-24 พฤษภาคม 2565
เครื่อง Flow Tester (ซ้าย) และเครื่อง Fork Tester (ขวา) ที่ส่งมอบให้แก่โรงพยาบาล
ดร.ชัยวุฒิกล่าวว่า “โรงพยาบาลได้นำเครื่องมือไปใช้ทดสอบโดยกลุ่มคนที่หลากหลายและส่งผลประเมินการใช้งานกลับมา ขณะนี้เราได้ข้อมูลครบแล้ว ซึ่งผลการประเมินเป็นที่น่าพอใจมาก เรามีระดับคะแนน 1-5 ให้ประเมิน ซึ่งทุกปัจจัยที่ได้รับการประเมินอยู่ในระดับมากกว่า 4 คือพอใจมาก โดยหน่วยงานนำร่องที่ร่วมทดสอบและประเมินการใช้งานอุปกรณ์ทั้งสอง เห็นว่าเครื่องมือนี้ช่วยอำนวยความสะดวกได้มาก มีความแม่นยำในการทดสอบ ลดความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากผู้ทดสอบทำให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นจึงสามารถนำผลทดสอบจากแต่ละโรงพยาบาลมาเปรียบเทียบกันได้ นอกจากนี้ ถ้าในอนาคตต้องมีการรับรองฉลากบนผลิตภัณฑ์อาหารโดย อย. ก็จะสามารถทำได้อย่างมีมาตรฐานมากขึ้นหากใช้เครื่องมือที่มีมาตรฐานในการวิเคราะห์ ผ่านหน่วยรับรอง (certification body) ที่ทาง อย. ให้การรับรองได้”
ก้าวต่อไป
ทีมวิจัยจะใช้ผลการประเมินที่ได้รับจากหน่วยงานต่างๆ เป็นข้อมูลในการปรับปรุงและพัฒนาเครื่องมือให้ดียิ่งขึ้น และจะทำงานร่วมกับสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทยในการผลักดันเมนูอาหารของแต่ละระดับ IDDSI โดยใช้อุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นในการจำแนกเมนูอาหาร ถ้าโรงพยาบาลทุกแห่งใช้เครื่องในการทดสอบก็จะสามารถอภิปรายผลและเปรียบเทียบผลบนพื้นฐานเดียวกันได้ ซึ่งจะเป็นมาตรฐานมากขึ้น
สิทธิบัตร
ผลงานวิจัยนี้ได้ยื่นขอจดอนุสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้วภายใต้หัวข้อ เครื่องวัดระดับอาหารเหลวและเครื่องดื่ม และ เครื่องวิเคราะห์เนื้อสัมผัสของอาหารด้วยแรงกดจากส้อมสำหรับจำแนกอาหารสำหรับผู้มีภาวะกลืนลำบากตามมาตรฐาน IDDSI
ขอบคุณข้อมูลจาก
ดร.ชัยวุฒิ กมลพิลาส นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหาร กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)
วิดีโอกิจกรรมการส่งมอบและอบรมการใช้งานต้นแบบอุปกรณ์ Flow Tester และ Fork Tester ให้แก่โรงพยาบาล 10 แห่ง