สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย งานพัฒนาคุณภาพการเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ
ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ เล็งเห็นความสำคัญในการออกแบบและพัฒนาเกณฑ์ประเมินหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ที่ครอบคลุมทุกมิติ เป็นกลาง และเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย จึงร่วมกับสภาองค์กรของผู้บริโภค ดำเนินโครงการเพื่อสุ่มตรวจทดสอบกลุ่มตัวอย่างหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ในท้องตลาด เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อหมวกนิรภัยได้อย่างมั่นใจมากขึ้น ในการดำเนินการ ทีมวิจัยเทคโนโลยียานยนต์และการขับขี่ นำโดยนายเศรษฐลัทธ์ แปงเครื่อง เป็นผู้ดำเนินโครงการดังกล่าว
ปัจจุบัน หมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ที่จำหน่ายในท้องตลาด ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) สินค้าประเภทหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ จากสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) เรียกว่า มาตรฐานอุตสาหกรรม หมวกนิรภัยสำหรับรถจักรยานยนต์ มีหมายเลขกำกับคือ 369-2557 เป็นมาตรฐานที่ว่าด้วยแบบและชนิดของหมวกนิรภัยที่ใช้งานกับรถจักรยานยนต์ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร วิธีการทดสอบและเกณฑ์การประเมินคุณสมบัติของหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ในแต่ละแบบ โดยมีวิธีการทดสอบและเกณฑ์การประเมินที่เทียบเคียงได้กับมาตรฐานสากล
นายเศรษฐลัทธ์ กล่าวถึงที่มาของโครงการว่า “สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ สภาผู้บริโภค ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นผู้แทนผู้บริโภค มีอำนาจหน้าที่คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน สภาองค์กรผู้บริโภคต้องการทราบว่าหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์มีการทดสอบอย่างไร หมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์รุ่นใดผ่านหรือไม่ผ่านมาตรฐานบ้าง ทั้งนี้ในปัจจุบันผู้บริโภคประสบปัญหาการเลือกซื้อหมวกนิรภัยที่เชื่อถือได้ ต้องการข้อมูลที่เป็นกลางและเข้าใจได้ง่าย เนื่องจากหมวกนิรภัยมีหลายประเภท และมีราคาและรุ่นต่างๆ อย่างหลากหลาย จึงเป็นที่มาของโครงการวิจัย”
ทีมวิจัยได้ออกแบบและพัฒนาเกณฑ์ประเมินและทดสอบหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ทั้ง 3 แบบ ได้แก่ แบบเต็มใบปิดใบหน้า แบบเต็มใบเปิดใบหน้า และแบบครึ่งใบ จำนวน 25 รุ่น เพื่อให้ผู้บริโภคทราบถึงคุณภาพด้านความปลอดภัยของหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์เมื่อเทียบกับราคาสินค้า
หลักการทดสอบหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์
ทีมวิจัยพัฒนาหลักเกณฑ์การทดสอบสำหรับโครงการนี้เพื่อเป็นข้อมูลช่วยในการเลือกซื้อสินค้า โดยทดสอบคุณสมบัติ 3 กลุ่ม ได้แก่
– กลุ่มที่ 1 ด้าน Passive safety คิดเป็น 40% คือ การทดสอบความสามารถในการปกป้องเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ศึกษาว่าหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ถูกกระแทกแล้วเป็นอย่างไร เป็นการประเมินแบบวัตถุวิสัย (objective) โดยประเมินจากการทดสอบ 3 รายการ ได้แก่ การดูดกลืนการกระแทก การคงรูป และสายรัดคาง ตามมาตรฐาน มอก. 369-2557
– กลุ่มที่ 2 ด้าน Active safety คิดเป็น 30% คือ การทดสอบความสามารถในการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ มีการประเมินแบบวัตถุวิสัยเกี่ยวกับคุณสมบัติทางกลของแผ่นบังลมตามมาตรฐาน มอก. 369-2557 ร่วมกับการประเมินแบบอัตวิสัย (subjective) จากผู้ร่วมทดสอบเกี่ยวกับมุมมองและการมองเห็น และความรู้สึกปลอดภัยในการใช้สายรัดคาง
– กลุ่มที่ 3 ด้าน Comfort & Fitting คิดเป็น 30% คือ การประเมินความพึงพอใจในการสวมใส่และใช้งาน เป็นการประเมินแบบอัตวิสัยจากผู้ร่วมทดสอบในหัวข้อความรู้สึกปลอดภัย ความสะดวกสบายในการใช้งาน ความกระชับในการสวมใส่ การระบายอากาศ และการป้องกันเสียงรบกวน
นายเศรษฐลัทธ์ เล่าต่อว่า “การทดสอบประเมินแบบวัตถุวิสัยทั้งด้าน Passive safety และ Active safety เป็นรายการตามมาตรฐาน มอก. 369-2557 กำหนดไว้อยู่แล้ว แต่มีความแตกต่างด้านการชักตัวอย่างมาทดสอบ โดยทีมวิจัยได้ให้ความสำคัญกับการจัดหาตัวอย่างเพื่อนำมาทดสอบอย่างมาก คือ ใช้วิธีการสุ่มซื้อตัวอย่างเสมือนผู้บริโภคจากช่องทางต่างๆ ในท้องตลาด ทั้งจากห้างสรรพสินค้า ร้านตัวแทนจำหน่ายหมวกนิรภัย และร้านค้าออนไลน์ โดยสินค้าต้องมีจำหน่ายในประเทศไทย มีเครื่องหมาย มอก. 369-2557 แสดงบนหมวก และมีราคาไม่เกินใบละ 20,000 บาท”
เขาชี้ประเด็นสำคัญให้เห็นว่า“การจัดหาตัวอย่างที่ทีมวิจัยใช้แตกต่างจากการชักตัวอย่างของ สมอ. ซึ่งใช้วิธีสุ่มเลือกตัวอย่างจากบริษัทหรือไลน์การผลิตโดยตรง”
การทดสอบหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์
นายเศรษฐลัทธ์ เล่าว่า “ทีมวิจัยมีขั้นตอนการเตรียมตัวอย่างและการตรวจสอบหมวกนิรภัยทุกใบ โดยก่อนการทดสอบจะดูรายละเอียดของรูปร่างภายนอก น้ำหนัก ขนาด วันผลิต และลักษณะทางวัสดุของหมวก รวมถึงการตรวจสอบการแสดงฉลากเครื่องหมายมอก. 369-2557 พร้อม QR code ว่ามีความถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ และพบว่า ผู้ผลิตได้ให้คำแนะนำอายุการใช้หมวกนิรภัยส่วนใหญ่ควรเปลี่ยนทุก 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ผลิต”
“ส่วนการทดสอบการประเมินแบบวัตถุวิสัย ทีมวิจัยได้คัดเลือกการทดสอบที่ตอบโจทย์และเหมาะสมสำหรับโครงการจำนวน 4 การทดสอบ ตามการทดสอบมาตรฐาน มอก. 369-2557 ที่มีการทดสอบอยู่แล้ว ได้แก่
การทดสอบการดูดกลืนแรงกระแทก เป็นการจำลองสถานการณ์รับแรงกระแทกที่เกิดขึ้น การทดสอบทำในสภาวะห้องทดสอบ โดยใช้ศีรษะจำลองสวมหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ และปล่อยหมวกนิรภัยให้ตกอย่างอิสระกระแทกกับทั่งกระแทกที่กำหนด ภายในศีรษะจำลองจะมีเซนเซอร์วัดความเร่งที่ได้รับเท่าไหร่ และเทียบกับเกณฑ์การบาดเจ็บของศีรษะ HIC (Head Injury Criteria)
การทดสอบการคงรูป เป็นการทดสอบการกดหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ด้วยเครื่องทดสอบที่ประกอบด้วยแผ่นกด 2 แผ่น โดยจะค่อยๆ กดลงไปและวัดความคงสภาพเมื่อปล่อยคืน
การทดสอบสายรัดคาง การทดสอบจะสวมหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์กับศีรษะจำลอง และรัดสายรัดคางให้แน่นตามการใช้งานปกติ นำไปแขวนกับเครื่องทดสอบ ถ่วงด้วยอุปกรณ์ถ่วงและกระชากด้วยลูกตุ้ม เพื่อดูว่าสายรัดคางยืดออกไประหว่างที่ดึงเท่าไหร่ คืนรูปกลับเหมือนเดิมหรือไม่ หรือเสียรูปไปเลย
การทดสอบแผ่นบังลม เป็นการทดสอบโดยใช้หัวกระแทกทรงกรวยมากระแทกที่แผ่นบังลมว่าแตกหรือไม่”
นายเศรษฐลัทธ์ อธิบายต่อว่า “ส่วนการทดสอบแบบการประเมินแบบอัตวิสัย โดยประเมินจากผู้ร่วมทดสอบที่มีการใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะหลัก เป็นผู้ที่มีใบขับขี่ และใช้รถจักรยานยนต์มาไม่น้อยกว่า 2 ปี ตอบแบบสอบถามเพื่อประเมินคุณสมบัติของตัวอย่างหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ในหัวข้อต่างๆ เช่น ความสบายในการสวมใส่ การระบายอากาศของหมวก ระดับเสียงที่ผู้ร่วมทดสอบได้ยินระหว่างการขับขี่ นอกจากนี้ได้ตรวจสอบคุณสมบัติด้านการมองเห็นในตอนกลางวันและกลางคืนของผู้ร่วมทดสอบในกลุ่ม Active safety ด้วย”
ผลการทดสอบ สู่เกณฑ์คะแนนของการประเมินหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์
ทีมวิจัยมีแนวคิดที่ต้องการแปลงเกณฑ์คะแนนของการประเมินหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ของโครงการนี้ให้มีระดับคล้ายกับคะแนนคุณภาพของสินค้าอื่นๆ ที่ผู้บริโภคคุ้นเคย โดยใช้เกณฑ์ 5 ดาว หมายถึง ดีที่สุด และน้อยลงไปตามลำดับ จนถึงระดับ 0 หมายถึงแย่ที่สุด
นายเศรษฐลัทธ์ อธิบายว่า “หากกล่าวในเชิงผลการทดสอบเชิงคุณภาพ พบว่ามีหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ที่ไม่ผ่านมาตรฐาน 11 ตัวอย่าง จากหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ที่ทดสอบทั้งหมด 25 ตัวอย่าง แบ่งเป็นหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์แบบครึ่งใบ ไม่ผ่านมาตรฐาน 3 จาก 6 ตัวอย่าง แบบเต็มใบเปิดหน้า ไม่ผ่านมาตรฐาน 2 จาก 4 ตัวอย่าง แบบเต็มใบปิดหน้าป้องกันคาง ไม่ผ่านมาตรฐาน 1 จาก 6 ตัวอย่าง แบบเต็มใบปิดหน้าป้องกันคาง ผ่านมาตรฐานทั้ง 2 ตัวอย่าง แบบเต็มใบปิดหน้าไม่ป้องกันคาง ผ่านมาตรฐานทั้ง 2 ตัวอย่าง และหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์สำหรับเด็ก ไม่ผ่านมาตรฐานทั้ง 5 ตัวอย่าง (หมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์สำหรับเด็ก ในนิยามตามมาตรฐาน มอก. 369-2557 คือหมวกที่มีขนาดเล็ก ที่เด็กหรือเยาวชนสามารถใส่ได้)”
“ผลการทดสอบครั้งนี้จะช่วยทำให้ผู้บริโภคมีข้อมูลที่เพียงพอ และเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจเลือกซื้อหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์มาสวมใส่ เป็นการพัฒนาเกณฑ์ประเมินคุณภาพแบบใหม่ที่นำเสนอผลลัพธ์ในเชิงตัวเลข เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจและนำไปเปรียบเทียบกันได้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของสภาองค์กรของผู้บริโภค https://www.tcc.or.th/08052566_helmet-test_news/” เขากล่าวสรุปและให้ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม
ข้อเสนอแนะทางนโยบายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จากการศึกษาของโครงการนี้ ทีมวิจัยพบว่า หมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์มีจำหน่ายในท้องตลาดที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน มอก. แล้วเมื่อนำมาทดสอบทวนซ้ำ หมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ส่วนหนึ่งกลับไม่ผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐาน ประเด็นสำคัญนี้อาจเกิดได้จากสาเหตุหลายอย่าง เช่น การควบคุมคุณภาพการผลิตของผู้ผลิตบางราย หรืออาจเกิดจากปัจจัยอื่นๆ การปลอมแปลงตราสัญลักษณ์ มอก. ตลอดจนอายุการใช้งานและการเสื่อมสภาพ ดังนั้น ทีมวิจัยจึงจัดทำข้อเสนอแนะสำหรับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
นายเศรษฐลัทธ์ เล่าว่า “หลังจากทดสอบและประเมินผลออกมาแล้ว ทีมวิจัยได้สรุปข้อเสนอแนะทางนโยบายที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาความปลอดภัยรถจักรยานยนต์ โดยเน้นคุณภาพของหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ เช่น หน่วยงานที่กำกับดูคุณภาพสินค้า มีข้อเสนอแนะเรื่องการเปลี่ยนวิธีการชักตัวอย่างในการทดสอบมาตรฐานเพื่อควบคุมคุณภาพ หรือเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกมาตรฐานการทดสอบ มีข้อเสนอแนะเรื่องความถี่ในการอัปเดตมาตรฐาน เป็นต้น หน่วยงานทางวิชาการ มีข้อเสนอแนะเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลเทคโนโลยีความปลอดภัย โดยเน้นเรื่องของการป้องกันมากขึ้น”
“ในอนาคตได้มีแนวทางในการที่จะร่วมมือกับ มูลนิธิไทยโรดส์ (ThaiRoads Foundation) (เว็บไซต์: http://www.thairoads.org/) เพื่อศึกษาการย้อนรอยอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่เกิดขึ้น ศึกษาสภาพของหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ รุ่นไหน และลักษณะของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นแนวทางศึกษาในอนาคตต่อไป”
“นอกจากนี้ กลุ่มสำคัญที่ใกล้ชิดกับผู้บริโภคที่สุด คือ ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายและผู้นำเข้าหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ มีข้อเสนอแนะเรื่องฉลากบอกคุณลักษณะ แสดงเครื่องหมายมอก. 369-2557 และ QR code ที่ระบุข้อมูลการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม รวมถึงการเก็บหรือรับคืนหมวกนิรภัยอายุมากกว่า 5 ปี ที่ยังไม่ได้จำหน่ายออกจากท้องตลาด ผู้บริโภคเองควรใส่ใจ ศึกษาข้อมูลคุณภาพของหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ในการเลือกซื้อ ตรวจสอบฉลาก ปีการผลิตด้วย”
แผนงานในอนาคต
“ทีมวิจัยมีแผนงานการศึกษาย้อนรอยเพื่อให้เข้าใจอุบัติเหตุศีรษะกระแทกในประเทศไทยให้ครอบคลุมรูปแบบต่างๆ ทั้งหมด จำลองสถานการณ์จริงที่ใช้ทดสอบ โดยบทบาทของทีมวิจัยจะเน้นทางด้านเทคนิค และพยายามพัฒนาเครื่องมือวัด อุปกรณ์วัดที่เหมาะสมขึ้นด้วย” นายเศรษฐลัทธ์ กล่าวทิ้งท้าย
ขอบคุณข้อมูลจาก
นายเศรษฐลัทธ์ แปงเครื่อง นักวิชาการ ทีมวิจัยเทคโนโลยียานยนต์และการขับขี่ กลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)
วิดีโอ งานแถลงข่าว ‘เปิดผลทดสอบหมวกกันน็อก ยี่ห้อไหนได้มาตรฐาน ?’ (8 พ.ค. 2566)