สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย งานพัฒนาคุณภาพการเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ
ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี
ทีมวิจัยเทคโนโลยียานยนต์และการขับขี่ กลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ได้ประยุกต์เทคโนโลยียานยนต์และองค์ความรู้ด้านการออกแบบ การวิเคราะห์ทดสอบ รวมถึงการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อพัฒนานวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาและส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ตลอดจนยกระดับความปลอดภัยบนท้องถนนทั้งมิติของรถ คน และถนน
รู้จักทีมวิจัยเทคโนโลยียานยนต์และการขับขี่
ทีมวิจัยเทคโนโลยียานยนต์และการขับขี่ประกอบด้วยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านวิศวกรรมยานยนต์ ครอบคลุมด้านกลศาสตร์ยานยนต์ การวิเคราะห์ด้วยวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ ระบบเครื่องมือวัดที่ใช้ในการทดสอบและประเมินคุณภาพยานยนต์ ตลอดจนมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ โดยทีมวิจัยได้บูรณาการองค์ความรู้ที่มีอยู่เพื่อการวิจัยและพัฒนาอย่างเป็นระบบ
ทิศทางการวิจัย
ดร.ฉัตรชัย ศรีสุรางค์กุล หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยียานยนต์และการขับขี่ กล่าวว่า “ภารกิจหลักของทีมวิจัยเทคโนโลยียานยนต์และการขับขี่ คือ การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการออกแบบยานยนต์และชิ้นส่วนต่างๆ การประเมินความปลอดภัยทางไฟฟ้าของรถไฟฟ้า หรือการทดสอบยานยนต์ตามข้อกำหนดต่างๆ โดยเน้นที่การทดสอบรถทั้งคัน และการพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์เสริมให้เกิดความปลอดภัยแก่รถดัดแปลง”
“การวิจัยและพัฒนาเน้นสร้างผลกระทบใน 3 ด้าน ได้แก่ หนึ่ง ด้านเศรษฐกิจ คือ การสร้างความสามารถในการแข่งขัน สอง ด้านสังคม คือ การยกระดับความปลอดภัยบนท้องถนนทั้งในมิติของรถ คน และถนน และสาม ด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการลดใช้พลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพของยานยนต์โดยเน้นที่รถไฟฟ้า (EV) เป็นหลัก”
ดร.ฉัตรชัย ขยายความว่า “ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทีมวิจัยต้องการเน้นด้านเศรษฐกิจและสังคมให้มากขึ้น เพื่อชูความสามารถในการแข่งขันและยกระดับความปลอดภัย เดิมทีงานวิจัยส่วนใหญ่จะเน้นการพัฒนาในมิติของรถ แต่เมื่อทำงานมาระยะหนึ่งก็พบว่า เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน นอกจากรถแล้วยังเกี่ยวพันกับมิติอื่นด้วย จึงได้ขยายงานในส่วนของความปลอดภัยให้ครอบคลุมทั้งในมิติของรถ คน และถนน”
ยกระดับความปลอดภัยทางถนน
- ผลงานเชิงประจักษ์: ตัวอย่างผลงานที่ยกระดับความปลอดภัยบนท้องถนนที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นมีดังนี้
มิติของรถ ทีมวิจัยได้พัฒนาแบบเชิงวิศวกรรมของอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างและด้านท้าย เพื่อป้องกันและลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการที่รถเข้ามาชนและมุดเข้าไปบริเวณช่องว่างใต้ท้องรถบรรทุก ทั้งนี้กรมการขนส่งทางบกได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดคุณลักษณะ ขนาด ประสิทธิภาพ ตำแหน่ง และเงื่อนไขในการติดตั้งอุปกรณ์ด้านข้างและด้านท้ายของรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ พ.ศ.2566 ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนพิเศษ 229 ง เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 เรียบร้อยแล้ว
โครงสร้างเสริมเพิ่มความปลอดภัย เช่น รถพยาบาลที่มีโครงสร้างเสริมความแข็งแรงเพื่อรองรับการพลิกคว่ำ ผลงานนี้ บริษัท สุพรีร่า อินโนเวชั่น จำกัด ได้นำต้นแบบโครงสร้างดังกล่าวไปผลิตในเชิงพาณิชย์ เพื่อติดตั้งกับรถตู้พยาบาลรุ่นเดิม พร้อมทั้งนำองค์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดไปพัฒนาโครงสร้างเสริมความแข็งแรงสำหรับรถตู้พยาบาลรุ่นใหม่อีกด้วย
ส่วนรถรับส่งนักเรียนที่มีโครงสร้างหลังคาแข็งแรง ทีมวิจัยได้ดำเนินการร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) และกรมการขนส่งทางบกจัดการอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีวิธีการผลิตโครงสร้างหลังคาและชิ้นส่วนต่างๆ ให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน อีกทั้งมอบแบบเชิงวิศวกรรมให้แก่ผู้ประกอบการ หรืออู่ต่อหลังคาเหล็กทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์
ต้นแบบอุปกรณ์ตรวจสอบสมรรถนะการทำงานของระบบเบรกและยางล้อในลักษณะตรวจคัดกรอง ซึ่งข้อมูลที่ได้จะถูกนำมาประเมินความเสี่ยงที่เกิดจากระบบเบรกทำงานผิดปกติหรือยางระเบิด โดยเฉพาะสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังพัฒนารถสุขาเคลื่อนที่พร้อมระบบฆ่าเชื้อ รถอเนกประสงค์เพื่อการเกษตร และศึกษาเปรียบเทียบระบบการทำงานของเบรก CBS (Combine Based System) และ ABS (Anti-Lock Brake System) ในรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นรถที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุด เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้บริโภคอีกด้วย
มิติของคน สถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนร้อยละ 81 เกิดจากการขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ อุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันการบาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิตคือหมวกนิรภัยที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ทีมวิจัยเอ็มเทคจึงร่วมกับสภาองค์กรของผู้บริโภคพัฒนาเกณฑ์การประเมินหมวกนิรภัย เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อหมวกนิรภัยได้อย่างมั่นใจมากขึ้น
ดร.ฉัตรชัย กล่าวถึงโครงการหมวกนิรภัยว่า “โครงการแรก เป็นการสุ่มตัวอย่างหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์ในท้องตลาดมาทดสอบคุณสมบัติ 3 กลุ่ม ได้แก่ การทดสอบความสามารถในการปกป้องเมื่อเกิดอุบัติเหตุ (passive safety) การทดสอบความสามารถในการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ (active safety) และการประเมินความพึงพอใจในการสวมใส่และใช้งาน (comfort & fitting) ผลการวิจัยพบว่า ตัวอย่างบางส่วนยังไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)”
“โครงการระยะที่ 2 ทีมวิจัยจึงร่วมกับสภาองค์กรของผู้บริโภคในการพัฒนาฉลากความปลอดภัย เพื่อเป็นดัชนีแสดงคุณภาพด้านความปลอดภัยของหมวกนิรภัย หากโครงการนี้สำเร็จจะต่อยอดไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เช่น เข็มขัดนิรภัย หมวกนิรภัยสำหรับช่าง หรือแบตเตอรี่”
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์ตรวจจับความล้าของผู้ขับขี่ เนื่องจากการขับรถเป็นเวลานานและระยะทางไกลอาจทำให้ผู้ขับขี่เกิดความเหนื่อยล้าได้ ทีมวิจัยคาดว่าอุปกรณ์ดังกล่าวจะช่วยลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุที่เกิดจากความอ่อนล้าของผู้ขับขี่ได้
มิติของถนน: ความขรุขระของพื้นผิวจราจรเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ และการสั่นสะเทือนยังสร้างความเสียหายให้แก่ตัวรถด้วย ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาต้นแบบอุปกรณ์ตรวจวัดความขรุขระของพื้นผิวจราจรเพื่อเป็นเครื่องมือในการประเมินสภาพถนน โดยคาดว่าอุปกรณ์นี้จะช่วยให้สามารถตรวจประเมินสภาพถนนได้บ่อยครั้งขึ้น
นอกจากนี้ ยังร่วมกับบริษัทเอกชนพัฒนารถซ่อมบำรุงถนนที่มีหลายฟังก์ชันการทำงาน เช่น กวาดถนน โรยหิน ลาดยาง และบดอัดเบ็ดเสร็จภายในคันเดียว อีกทั้งมีระบบตรวจจับระดับน้ำยางแบบไม่สัมผัส เพื่อให้สามารถวางแผนลาดยางได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- การบริการให้คำปรึกษาและวิเคราะห์ทดสอบ
นอกจากการพัฒนาผลงานรูปธรรมที่กล่าวข้างต้นแล้ว ทีมวิจัยเอ็มเทคยังมีบริการให้คำปรึกษาและประเมินความปลอดภัยด้านยานยนต์ตามมาตรฐานต่างๆ เช่น การวิเคราะห์จุดศูนย์ถ่วงของรถเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำ ความสามารถในการไต่ทางชัน การทดสอบลุยน้ำท่วม การทดสอบระบบเบรก เป็นต้น
ดร.ฉัตรชัย ขยายความเพิ่มเติมว่า “ทีมวิจัยมีบริการให้คำปรึกษา วิเคราะห์และทดสอบด้านวิศวกรรมยานยนต์ตามมาตรฐานสากล เช่น สมรรถนะทั่วไป เสถียรภาพและระบบบังคับเลี้ยว ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว และสมรรถนะการเบรก นอกจากนี้ ยังให้คำปรึกษาและประเมินความปลอดภัยยานยนต์ไฟฟ้า เช่น การกระจายน้ำหนักและระบบส่งกำลัง โดยวิเคราะห์ขนาดมอเตอร์และแบตเตอรี่ที่เหมาะสม การวิเคราะห์อัตราเร่ง การสิ้นเปลือง และระยะทางการขับขี่ด้วยแบบจำลอง การทดสอบสมรรถนะของยานยนต์ไฟฟ้าในสภาวะการใช้งานจริง และการทดสอบความปลอดภัยทางไฟฟ้า”
ในฐานะของการเป็นหัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยียานยนต์และการขับขี่ ดร.ฉัตรชัย ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับปัจจัยที่ช่วยให้ผลงานวิจัยมีการนำไปใช้งานจริงว่า “ถ้าเราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่ดีได้จริง มีความต้องการที่แท้จริง และมีพันธมิตรที่จะนำไปผลิตหรือสามารถผลักดันให้เกิดการใช้จริง ผลงานของเราก็สามารถสร้างผลกระทบที่พึงประสงค์ได้”
ข้อมูลเพิ่มเติม
สนใจรายละเอียดติดต่อ
คุณสุนทรีย์ โฆษิตชัยยงค์
งานประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
โทรศัพท์: 0 2564 6500 ต่อ 4783
อีเมล: soontaree.kos@mtec.or.th
ขอบคุณข้อมูลจาก
ดร.ฉัตรชัย ศรีสุรางค์กุล หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยียานยนต์และการขับขี่ กลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)