สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย งานสื่อสารและขับเคลื่อนความรู้
ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ
ผู้ประกอบการตลอดโซ่การผลิต (supply chain) ของสินค้าที่ต้องการขายในตลาดต่างประเทศทั่วโลก ต้องสำแดงข้อมูลสารเคมีในผลิตภัณฑ์และส่งต่อข้อมูลดังกล่าวตลอดโซ่การผลิต โดยข้อมูลต้องครบถ้วนและครอบคลุมสารเคมีที่ถูกขึ้นบัญชีรายการสารเคมีที่ต้องควบคุมในที่ต่างๆ ทั่วโลกตามที่กฎหมายกำหนด
สินค้าที่ไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดด้านสารเคมีในผลิตภัณฑ์จะมีความเสี่ยงสูงที่อาจถูกตีกลับโดยลูกค้าหรือเจ้าหน้าที่ในประเทศปลายทาง หรืออาจไม่มีการสั่งซื้อ หรืออาจถึงขั้นยกเลิกสัญญา
การทดสอบ การส่งใบรับรอง และการกรอกข้อมูลสารเคมีเป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องในทุกลำดับขั้นของโซ่การผลิต เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าที่ต้องการส่งออกปลอดสารต้องห้ามและสารควบคุม
chemSHERPA เป็นเครื่องมือสำหรับการจัดการและสื่อสารข้อมูลสารเคมีในผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาโดย JAMP (Joint Article Management Promotion-consortium) ได้รับการสนุนงบประมาณจากกระทรวง METI ประเทศญี่ปุ่น โดยเวอร์ชั่นล่าสุดคือ chemSHERPA (version V2R1)
ทั้งนี้มีคณะทำงานที่มาจากกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ในญี่ปุ่นและคณะผู้เชี่ยวชาญที่คอยตรวจสอบกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องที่เกิดขึ้นในเวทีโลก เพื่อนำมาปรับปรุงเครื่องมือการใช้งานให้ทันสมัยและสอดคล้องกับมาตรฐาน IEC 62474 ทำให้ธุรกิจชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบันใช้ chemSHERPA มากขึ้น เพื่อบริหารจัดการและสื่อสารข้อมูลสารเคมีในผลิตภัณฑ์ตลอดโซ่การผลิตและตลอดโซ่คุณค่า (value chain)
การใช้ chemSHERPA ช่วยให้การจัดการผลิตภัณฑ์หลังการใช้งานเป็นไปอย่างถูกต้องปลอดภัย ทั้งยังเอื้อต่อการมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เช่น หากต้องนำวัสดุที่เป็นองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ กลับมาเป็นวัตถุดิบรอบสอง ก็จะมีข้อมูลที่ช่วยให้แยกชิ้นส่วนต่างๆ ไปจัดการอย่างถูกวิธี และแยกชิ้นส่วนที่ปนเปื้อนสารเคมีอันตรายออกไป
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ได้ดำเนินกิจกรรมในการยกระดับผู้ประกอบการเพื่อไปสู่ Green Industry และก้าวเข้าสู่ Circular Economy โดยเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการย่อย chemSHERPA JAMP-Thai Subcommittee และจัดสัมมนาให้แก่อุตสาหกรรมไทยมานานกว่า 10 ปี
เอ็มเทคยังได้รับการรับรองให้เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการสอนในปี พ.ศ. 2566 และจัดตั้ง chemSHERPA Academy-Thai Hub ขึ้น เพื่อเผยแพร่ความเข้าใจในหลักการ กลไก ตลอดจนวิธีการใช้เครื่องมือ chemSHERPA ให้มีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือ ผู้กรอกข้อมูลต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องที่ได้มาจากการควบคุมการผลิตในแต่ละด้าน มีความเข้าใจทั้งในเรื่องคุณภาพและความถูกต้องของข้อมูล และสามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้
เอ็มเทคร่วมกับ JAMP และ AOTS จัดฝึกอบรมการใช้งาน chemSHERPA Tools อย่างต่อเนื่อง ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในทุกแง่มุม ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อให้สมาชิกปรับตัวและรู้ทันกฎหมายสารเคมีในผลิตภัณฑ์ (CiP Alert network)
สนใจบริการติดต่อ
ดร. เสมอแข จงธรรมานุรักษ์ หัวหน้าทีมวิจัยสารอันตรายจากวัสดุ กลุ่มวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม
และ นางสาวภารดี บุญรอง งานประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
โทร. 0 2564 6500 ต่อ 4303
อีเมล paradeeb@mtec.or.th