ParaFIT (พาราฟิต) น้ำยางพาราข้นชนิดใหม่สำหรับผลิตหมอนและที่นอนยางพารา
ParaFIT (พาราฟิต) น้ำยางพาราข้นชนิดใหม่สำหรับผลิตหมอนและที่นอนยางพารา
ที่มา
น้ำยางพาราข้นเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ทำผลิตภัณฑ์หมอนและที่นอนยางพารา แต่น้ำยางพาราข้นที่ใช้ในปัจจุบันมีส่วนผสมของแอมโมเนีย ซิงก์ออกไซด์ และเตตระเมทิลไทยูแรมไดซัลไฟด์ เพื่อป้องกันการบูดเน่าของน้ำยาง อย่างไรก็ดี แอมโมเนียเป็นสารเคมีที่ระเหยง่าย มีกลิ่นฉุนรุนแรงมาก ทำลายสุขภาพ สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้น้ำยางพาราข้นมีสมบัติไม่คงที่ ส่วนซิงก์ออกไซด์มีโลหะหนัก และเตตระเมทิลไทยูแรมไดซัลไฟด์เป็นสารที่ก่อให้เกิดสารไนโตรซามีน (สารก่อมะเร็ง) นอกจากนี้ การนำน้ำยางพาราข้นดังกล่าวไปผลิตหมอนและที่นอนยางพาราต้องมีขั้นตอนการบ่มและการกำจัดแอมโมเนียให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมก่อนด้วย
เป้าหมาย
- วิจัยและพัฒนาน้ำยางพาราข้นชนิดใหม่ (ParaFIT) ที่เป็นมิตรกับคนและสิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารเคมี และลดระยะเวลาการบ่มน้ำยางพาราข้น สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตหมอนและที่นอนยางพาราที่มีคุณภาพดี ทดแทนการใช้น้ำยางพาราข้นทางการค้า
ทีมวิจัยทำอย่างไร
- พัฒนาสูตรน้ำยาง ParaFIT ให้มีปริมาณแอมโมเนียต่ำที่สุด มีปริมาณซิงก์ออกไซด์ และเตตระเมทิลไทยูแรมไดซัลไฟด์น้อยลง และใช้เวลาในการบ่มที่สั้นลง ก่อนนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์ยาง
- ทดลองผลิตน้ำยาง ParaFIT โดยใช้เครื่องจักรอุตสาหกรรมของโรงงานผลิตน้ำยางพาราข้น และทดสอบสมบัติของน้ำยาง ParaFIT ที่ได้ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก. 980-2552 และ ISO 2004-2017)
- ทดลองผลิตหมอนและที่นอนยางพาราจากน้ำยาง ParaFIT โดยใช้เครื่องจักรอุตสาหกรรมของโรงงานผลิตหมอนและที่นอนยางพารา และทดสอบสมบัติของหมอนและที่นอนยางพาราที่ได้ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก. 2741-2559 และ มอก. 2747-2559)
คุณสมบัติ
- ลดปริมาณแอมโมเนีย: มีปริมาณแอมโมเนียต่ำกว่า 20% โดยน้ำหนักน้ำยาง (น้ำยางพาราข้นทางการค้ามีปริมาณแอมโมเนีย 0.3-0.7% โดยน้ำหนักน้ำยาง) จึงไม่ต้องมีขั้นตอนการกำจัดแอมโมเนียออกจากน้ำยางพาราข้นก่อนนำไปผลิตหมอนและที่นอนยางพารา ซึ่งเป็นมิตรกับคนและสิ่งแวดล้อม
- ลดปริมาณ ZnO และ TMTD: มีปริมาณซิงก์ออกไซด์ และเตตระเมทิลไทยูแรมไดซัลไฟด์น้อยกว่าน้ำยางพาราข้นทางการค้า (ชนิด LA และ MA) 30% โดยน้ำหนักน้ำยาง จึงช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตน้ำยางพาราข้น
- ประหยัดเวลาและงบประมาณ: นำไปใช้งานได้ทันทีภายใน 1-3 วันหลังจากวันผลิต (ไม่ต้องบ่มน้ำยางในถังพักไว้ 21 วันเหมือนน้ำยางพาราข้นทางการค้า) จึงช่วยลดเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อน้ำยางพาราสดและประหยัดเงินลงทุนในการสร้างอุปกรณ์จัดเก็บน้ำยางพาราข้น
- ยืดอายุการเก็บรักษา: มีอายุการเก็บรักษานานกว่า 6 เดือน
สถานภาพงานวิจัย
- จดทะเบียนความลับทางการค้า เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561
- มีการผลิตน้ำยาง ParaFIT ในระดับอุตสาหกรรมแล้วโดยสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา จำกัด
- มีการผลิตหมอนและที่นอนยางพาราจากน้ำยาง ParaFIT จำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว ภายใต้แบรนด์ “หมอนและที่นอนเปี่ยมสุข”
แผนงานในอนาคต
ขยายการใช้ประโยชน์น้ำยาง ParaFIT สู่ภาคชุมชนและภาคอุตสาหกรรม
ทีมวิจัย:
เอ็มเทค: ปิยะดา สุวรรณดิษฐากุล, สุริยกมล มณฑา, ภิพัฒชา รักดี, ธนิกา พัฒโนทัย และ ฉวีวรรณ คงแก้ว
ติดต่อ:
ฉวีวรรณ คงแก้ว
นักวิจัยอาวุโส กลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง
โทรศัพท์ 02 5646 500 ต่อ 4503
อีเมล chaveer@mtec.or.th