CERAPORE วัสดุพรุนตัวซีโอไลต์ผลิตจากเถ้าลอย


วัสดุพรุนตัวซีโอไลต์ผลิตจากเถ้าลอย
ที่มา
ทีมวิจัยเอ็มเทคมีความเชี่ยวชาญในการสังเคราะห์วัสดุพรุนตัวซีโอไลต์จากวัตถุดิบหลายชนิดที่มีปริมาณซิลิคอนไดออกไซด์เหมาะสม เช่น เถ้าลอย เถ้าหนัก เศษแร่บางชนิด และดินที่มีมูลค่าต่ำ
ประเทศไทยมีเถ้าลอยที่เป็นของเสียจากกระบวนการเผาไหม้ถ่านหินมากกว่า 3 ล้านตันต่อปี เถ้าลอยส่วนใหญ่ถูกกำจัดโดยการฝังกลบจึงก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ ทีมวิจัยเอ็มเทคใช้เถ้าลอยดังกล่าวเพื่อสังเคราะห์เป็นวัสดุพรุนตัวซีโอไลต์ นับเป็นการจัดการที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม
เป้าหมาย
พัฒนาวัสดุเซรามิกที่มีความพรุนตัวสูงสำหรับใช้ในกระบวนการแยก กระบวนการทำให้บริสุทธิ์ และกระบวนการเร่งปฏิกิริยา โดยกลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์คือ
• บริษัท SME ที่นำองค์ความรู้จากงานวิจัยไปผลิตวัสดุพรุนตัว
• อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใช้วัสดุพรุนตัวในกระบวนการผลิต
ทีมวิจัยทำอย่างไร
สังเคราะห์วัสดุพรุนตัวซีโอไลต์จากเถ้าลอยให้มีความพรุนตัวสูง มีโครงสร้างที่เป็นระเบียบ และทนต่อสภาวะที่มีความชื้นหรือความร้อนได้เป็นอย่างดี

ผลการทดสอบ
วัสดุพรุนตัวซีโอไลต์สามารถใช้เป็นเมมเบรนเพื่อทำให้ก๊าซเชื้อเพลิงมีความบริสุทธิ์สูงขึ้น หรืออาจใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในกระบวนการไพโรไลซิสแบบรวดเร็วของกากชีวมวล เพื่อช่วยลดปริมาณออกซิเจนในน้ำมันชีวภาพ ทำให้มีสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันปิโตรเลียมยิ่งขึ้น อันเป็นการลดต้นทุนการนำเข้าวัสดุดังกล่าวจากต่างประเทศ
สถานภาพปัจจุบัน
ปัจจุบัน บริษัท เหมืองขุนฝาง จำกัด รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในส่วนการสังเคราะห์ซีโอไลต์จากแหล่งแร่ โดยบริษัทได้เช่าพื้นที่ในอาคาร INC 2 สำหรับเปิดบริษัทเพื่อสังเคราะห์ซีโอไลต์ที่ได้จากการทำงานวิจัยร่วมกับเอ็มเทค

วัสดุพรุนตัวซีโอไลต์
แผนงานในอนาคต
ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ภาคเอกชน เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งศึกษาเพิ่มเติมในส่วนของการสังเคราะห์ซีโอไลต์จากของเสียเหลือทิ้งชนิดอื่นให้เหมาะสมกับการใช้งานในรูปแบบต่างๆ นอกเหนือจากการใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
ติดต่อ
เปรียวธิดา จันทรัตน์ นักวิเคราะห์ หน่วยวิจัยเซรามิกส์
โทร: 02 564 6500 ต่อ 4302
อีเมล: priawthida.jan@mtec.or.th