ที่มาโจทย์วิจัย
ทีมวิจัยของเอ็มเทคมีความเชี่ยวชาญในการผลิตวัสดุพรุนตัวซีโอไลต์ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ในหลายด้าน อาทิ กระบวนการแยก (separation process) กระบวนการทำให้บริสุทธิ์ (purification process) กระบวนการเร่งปฏิกิริยา (catalytic process) เป็นต้น
วัสดุพรุนตัวชนิดนี้สามารถสังเคราะห์ได้จากวัตถุดิบหลายชนิด เช่น ของเสียเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ และแหล่งดินภายในประเทศ อันเป็นการลดปัญหาการจัดการของเสียตามโรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ของเสียและวัตถุดิบภายในประเทศอีกทางหนึ่งด้วย
เป้าหมาย
พัฒนาวัสดุเซรามิกที่มีความพรุนตัวสูง มีโครงสร้างที่เป็นระเบียบ ทนต่อสภาวะที่มีความชื้นหรือความร้อนได้ดี ใช้งานในด้านต่างๆ อย่างหลากหลาย อีกทั้งยังลดการนำเข้าวัสดุดังกล่าวจากต่างประเทศ
กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับประโยชน์ ได้แก่
• กลุ่มบริษัท SMEs เป็นผู้ที่นำองค์ความรู้จากงานวิจัยไปใช้ผลิตวัสดุพรุนตัวที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคภายในประเทศ
• กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นผู้ใช้งานวัสดุพรุนตัว การใช้งานวัสดุจากงานวิจัยจึงช่วยลดต้นทุนในการนำเข้าสินค้า
ทีมวิจัยทำอย่างไร
สังเคราะห์วัสดุพรุนตัวซีโอไลต์จากแหล่งดินและเถ้าลอย (fly ash) ที่มีความพรุนตัวสูง มีโครงสร้างที่เป็นระเบียบ สามารถทนต่อสภาวะที่มีความชื้นหรือความร้อนได้ดี
นอกจากนี้ ยังใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน เช่น ใช้เป็นวัสดุเมมเบรน หรือตัวเร่งปฏิกิริยาในกระบวนการไพโรไลซิสแบบรวดเร็วของกากชีวมวล เพื่อช่วยลดปริมาณออกซิเจนในน้ำมันชีวภาพ ซึ่งจะช่วยให้น้ำมันชีวภาพมีสมบัติใกล้เคียงน้ำมันปิโตรเลียมยิ่งขึ้น
ผลงานที่เกิดขึ้นตอบโจทย์แนวโน้มความต้องการระดับประเทศ เนื่องจากในปัจจุบันมีแหล่งดินที่มีมูลค่าต่ำ อีกทั้งปริมาณเถ้าลอยที่เป็นของเสียจากกระบวนการเผาไหม้ถ่านหินจากโรงงานอุตสาหกรรมมีปริมาณมากกว่า 3 ล้านตันต่อปี
โดยทั่วไป เถ้าลอยจะถูกกำจัดโดยการฝังกลบ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ นอกจากนี้ การนำของเสียเหลือทิ้งมาใช้ประโยชน์ จึงมีส่วนช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากจากอุตสาหกรรมการผลิต
ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ
การนำของเหลือทิ้งหรือวัสดุพลอยได้มาเป็นวัตถุดิบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้องคำนึงถึงความสม่ำเสมอของปริมาณและคุณภาพของของวัสดุพลอยได้ ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ก่อให้เกิดผลพลอยได้นั้นๆ รวมถึงปัจจัยทางด้านเทคโนโลยีในการสังเคราะห์และควบคุมขนาด การกระจายตัวของรูพรุนในโครงสร้างซีโอไลต์ที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการใช้งาน
การก้าวข้ามอุปสรรคสำคัญ
การนำผลงานจากโครงการไปทดลองใช้งานเพื่อทดสอบประสิทธิภาพและให้เป็นที่ยอมรับ เช่น คุณภาพของผลิตภัณฑ์ต้องมีความใกล้เคียงกับสินค้าที่ขายในท้องตลาด ตลอดจนวิธีการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ต้องเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
สถานภาพปัจจุบัน
พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีผลงานวิจัยนี้
ปัจจุบัน บริษัท เหมืองขุนฝาง จำกัด รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในส่วนการสังเคราะห์ซีโอไลต์จากแหล่งแร่ โดยบริษัทได้เช่าพื้นที่ในอาคาร INC 2 สำหรับเปิดบริษัทเพื่อสังเคราะห์ซีโอไลต์ที่ได้จากการทำงานวิจัยร่วมกับเอ็มเทค
แผนงานในอนาคต
ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสังเคราะห์ซีโอไลต์จากของเสีย ของเหลือทิ้งหลากหลายชนิด ให้เหมาะสมกับการใช้งานในรูปแบบต่างๆ นอกเหนือจากการใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทางปิโตรเคมี