ที่มาของโจทย์วิจัย
การใช้น้ำยางพาราข้นเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์พาราเอซี (PARA AC) ที่อุณหภูมิ 140-160 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดปัญหาไอระเหยของแอมโมเนีย ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และเกิดปัญหาการอุดตันของน้ำยางพาราข้นในท่อนำส่ง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องลงทุนติดตั้งเครื่องจักรสำหรับดูดไอระเหยของแอมโมเนียโดยเฉพาะ และสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียเพิ่มเติม แต่ทว่าการดำเนินการเช่นนี้ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เป้าหมาย
ทีมวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านน้ำยางจากเอ็มเทคประกอบด้วยนายสุริยกมล มณฑา นางสาวปิยะดา สุวรรณดิษฐากุล และนางฉวีวรรณ คงแก้ว ได้พัฒนาน้ำยางพาราข้นเกรดพิเศษ ชื่อว่า น้ำยาง ULA (Ultra-Low Ammonia latex) ซึ่งมีปริมาณแอมโมเนียต่ำมากและมีเสถียรภาพด้านความร้อนสูง ทำให้มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับผสมกับแอสฟัลต์ โดยบริษัท ไทยอีสเทิร์น รับเบอร์ จำกัด เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบน้ำยาง ULA ให้แก่บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) เพื่อผลิต ULA-PARA AC สำหรับทำถนน
ทีมวิจัยทำอย่างไร
น้ำยางพาราข้นชนิดแอมโมเนียต่ำมาก (Ultra-low ammonia latex) หรือ น้ำยาง ULA จึงได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ทดแทนน้ำยางพาราข้นทางการค้า โดยในขั้นตอนการปรับสภาพน้ำยางพาราข้นที่ออกมาจากเครื่องหมุนเหวี่ยงความเร็วสูงจะใช้สารเคมีสำหรับน้ำยาง ULA โดยเฉพาะ ทดแทนการใช้แอมโมเนีย แอมโมเนียมลอเรต เตตราเมทิลไทยูแรมไดซัลไฟด์ และซิงค์ออกไซด์
น้ำยาง ULA มีคุณสมบัติพิเศษ คือ
1) มีปริมาณแอมโมเนียอยู่ในช่วง 0.10-0.15%
2) มีค่าเสถียรภาพต่อการปั่นไม่ต่ำกว่า 1,500 วินาที
3) มีเสถียรภาพต่อความร้อนสูง
4) ไม่ต้องบ่มน้ำยางในถังพักไว้ 21 วันเหมือนน้ำยางพาราข้นทางการค้าจึงสามารถนำไปใช้งานได้ทันทีภายใน 1-2 วันหลังจากวันผลิต
5) มีอายุการเก็บรักษานานกว่า 6 เดือน
ทีมวิจัยมีความร่วมมือกับบริษัท ไทยอีสเทิร์น รับเบอร์ จำกัด เพื่อทดลองผลิตน้ำยาง ULA ในระดับอุตสาหกรรม โดยได้ตรวจสอบสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของน้ำยาง ULA อ้างอิงมาตรฐาน มอก. 980-2552 (น้ำยางข้นธรรมชาติ) และมีความร่วมมือกับบริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) เพื่อนำน้ำยาง ULA ไปทดลองทำผลิตภัณฑ์ PARA AC ที่โรงงานในพื้นที่ต่างกันจำนวน 2 แห่ง มีการตรวจสอบสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของผลิตภัณฑ์ ULA-PARA AC อ้างอิงมาตรฐาน มอก. 2731-2559 (แอสฟัลต์ซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ)
ผลการทดสอบ
ทีมวิจัยทดสอบสมบัติของน้ำยาง ULA ที่พัฒนาขึ้นเปรียบเทียบกับน้ำยางพาราข้นทางการค้าทั้งชนิดแอมโมเนียสูง (HA) กลาง (MA) และต่ำ (LA) อ้างอิงตามมาตรฐาน มอก. 980-2552 พบว่าน้ำยาง ULA มีปริมาณแอมโมเนียต่ำกว่าและมีเสถียรภาพต่อการปั่นสูงกว่าน้ำยางพาราข้นทางการค้า น้ำยาง ULA ก่อให้เกิดไอระเหยของแอมโมเนียออกสู่บรรยากาศ (มลพิษทางอากาศ) น้อยกว่า และมีเสถียรภาพต่อความร้อนดีกว่าน้ำยางพาราข้นทางการค้าในทุกๆ สภาวะอุณหภูมิ ฤดูกาลและแหล่งที่มาของน้ำยางพาราสดไม่มีผลต่อกระบวนการผลิตและคุณภาพของน้ำยาง ULA เมื่อนำน้ำยาง ULA ไปใช้เป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์ PARA AC สามารถได้ผลิตภัณฑ์ PARA AC ที่มีคุณสมบัติต่างๆ ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มอก. 2731-2559
สถานภาพปัจจุบัน
“กรรมวิธีการเพิ่มเสถียรภาพของน้ำยางและลดปริมาณแอมโมเนียในการผลิตน้ำยางข้นชนิดแอมโมเนียต่ำสำหรับการใช้ที่อุณหภูมิสูง” ได้ยื่นจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เลขที่คำขอ 1601004757 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2559
“สูตรน้ำยางข้นชนิดแอมโมเนียต่ำมากสำหรับผสมกับแอสฟัลต์” ได้จดความลับทางการค้า เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560
ปัจจุบันได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและการใช้ประโยชน์น้ำยาง ULA สำหรับทำผลิตภัณฑ์ PARA AC ให้แก่บริษัท ไทยอีสเทิร์น รับเบอร์ จำกัด แล้ว
บริษัท ไทยอีสเทิร์น รับเบอร์ จำกัด ได้ผลิตน้ำยาง ULA และจำหน่ายให้แก่บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) เพื่อผลิต PARA AC ในระดับอุตสาหกรรมและจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก่อสร้างถนน
แผนงานในอนาคต
ขยายผลการใช้น้ำยาง ULA ไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ดินซีเมนต์ (soil cement) หมอนยาง ถุงมือยาง และหัวนมยาง
ติดต่อ
ฐิติพร ทนันไชย ผู้จัดการและรักษาการผู้อำนวยการฝ่าย งานประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
โทร: 0 2564 6500 ต่อ 4785
อีเมล: thitipt@mtec.or.th
ทีมวิจัย
สุริยกมล มณฑา
ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีน้ำยาง หน่วยวิจัยยาง
ปิยะดา สุวรรณดิษฐากุล
ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีน้ำยาง หน่วยวิจัยยาง