ที่มา
ขยะพลาสติกเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขยะพลาสติกประเภทใช้งานเพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่งมักจะถูกนำไปกำจัดโดยการฝังกลบและเผา อย่างไรก็ตาม ขยะพลาสติกบางส่วนที่ถูกทิ้งลงแม่น้ำและไหลสู่ทะเล ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและกำลังย้อนกลับมาสร้างปัญหาให้แก่มนุษย์ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์คือการพัฒนาฟิล์มบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยกระบวนการทางชีวภาพสำหรับการประยุกต์ใช้งานในรูปแบบต่างๆ
เป้าหมาย
พัฒนาถุงพลาสติกย่อยสลายได้เพื่อสนับสนุนให้เกิดการคัดแยกขยะ โดยมีเป้าหมายให้เกิดการแยกขยะอินทรีย์ออกจากขยะรีไซเคิลซึ่งมีมูลค่า ทำให้สามารถจัดการขยะอินทรีย์ที่อยู่ในถุงปิดสนิทได้อย่างสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้นต่อผู้ขนถ่ายและกำจัดขยะ
ทีมวิจัยทำอย่างไร
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร นำแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นผลิตผลจากพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย มาผลิตเป็นเทอร์โมพลาสติกสตาร์ช (thermoplastic starch) ผ่านกระบวนการอัดรีดด้วยเทคนิค twin screw extrusion และพัฒนาสูตรเม็ดพลาสติกคอมพาวด์ย่อยสลายได้ ที่สามารถขึ้นรูปเป็นต้นแบบ“ถุงพลาสติกย่อยสลายได้” โดยขยายการผลิตในโรงงานด้วยเครื่องเป่าฟิล์มระดับอุตสาหกรรม
คุณสมบัติ
ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ที่มีองค์ประกอบของแป้งมันปริมาณสูง ที่ผลิตด้วยเครื่องเป่าฟิล์มระดับอุตสาหกรรมมีขนาดถุง 18 นิ้ว x 20 นิ้ว ความหนา 30 ไมครอน มีความแข็งแรงเพียงพอต่อการใช้งานทิ้งเศษขยะอินทรีย์ และจากการทดสอบฝังกลบในดินร่วมกับเศษอาหารพบว่า สามารถย่อยสลายได้ภายในระยะเวลา 4 เดือน
สถานภาพงานวิจัย
ถุงพลาสติกย่อยสลายได้สามารถขึ้นรูปได้ด้วยกระบวนการเป่าฟิล์มโครงสร้างชั้นเดียว โดยใช้เครื่องจักรระดับอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในประเทศไทย โดยขณะนี้ (พฤษภาคม 2563) อยู่ในระหว่างการทดสอบใช้งานเพื่อคัดแยกขยะระดับภาคสนาม
แผนงานในอนาคต
การพัฒนาสูตรพอลิเมอร์คอมพาวด์ย่อยสลายได้เพื่อประยุกต์ใช้งานเป็นฟิล์มบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตผลสดการเกษตร
ทีมวิจัย
ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีพลาสติก หน่วยวิจัยโพลิเมอร์ขึ้นสูง
ติดต่อ
วรกานต์ รอดบุญส่ง
งานประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
โทร. 0 2564 6500 ต่อ 4788
อีเมล worrakarn.rod@mtec.or.th