ที่มา
ผู้ที่มีปัญหาในการบริโภค เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่กำลังจัดฟัน และผู้มีปัญหาด้านสุขภาพฟัน มักหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ เนื่องจากมีเนื้อสัมผัสเหนียวและแข็งกระด้าง อย่างไรก็ตาม เนื้อสัตว์เป็นสารอาหารประเภทโปรตีนที่มีความจำเป็นอย่างมากต่อผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ดังนั้น อาหารประเภทเนื้อสัตว์สำหรับผู้ที่มีปัญหาในการบริโภค จึงมักอยู่ในลักษณะบดหรือปั่นละเอียด แต่อาหารที่มีรูปลักษณ์ภายนอกแบบนี้ มักทำให้ความพึงพอใจ และความอยากรับประทานอาหารลดลง ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาทุพโภชนาการได้ ทีมวิจัยเอ็มเทคจึงใช้เทคโนโลยีกระบวนการปรับโครงสร้างอาหารร่วมกับการใช้ตัวปรับเนื้อสัมผัส เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่มีเนื้อสัมผัสนุ่ม สามารถบดเคี้ยวง่ายด้วยฟัน และ/หรือเหงือก อีกทั้งยังกลืนง่าย มีความฉ่ำน้ำสูง และยังคงรูปร่างได้ จึงสามารถหั่นหรือตัดเป็นชิ้นได้
เป้าหมาย
ผลิตภัณฑ์เนื้อหมูนุ่มบดเคี้ยวง่ายสำหรับผู้มีปัญหาการบริโภค ซึ่งมีความแข็งในระดับที่ใช้ฟันและเหงือกกดให้แตกได้ มีความฉ่ำน้ำ แต่คงรูปร่างได้เหมือนชิ้นเนื้อสัตว์ และนำไปประกอบเป็นเมนูอาหารที่หลากหลายได้
ทีมวิจัยทำอย่างไร
ใช้กระบวนการปรับโครงสร้างและเนื้อสัมผัสที่เหนี่ยวนำให้เกิดสมดุลของช่องว่าง และโครงสร้างสามมิติของโปรตีนเนื้อหมู ร่วมกับการใช้ตัวปรับเนื้อสัมผัสที่เป็นสารก่อเจลอาหารเพื่อช่วยในการกักเก็บน้ำในผลิตภัณฑ์ โดยศึกษาปัจจัยต่างๆ อาทิ ปริมาณเนื้อหมู ชนิดและปริมาณของสารก่อเจลอาหาร ชนิดและปริมาณของตัวเติมอาหารที่เพิ่มค่าความเป็นกรดเบส ปริมาณน้ำมันพืช ชนิดและปริมาณของโปรตีนจากแหล่งอื่น รวมถึงขนาดของอนุภาคเนื้อหมูที่ผ่านกระบวนการบดหรือสับ และอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการทำให้สุก ที่ส่งผลต่อเนื้อสัมผัสของเนื้อหมู ค่าการสูญเสียระหว่างการหุงต้ม ปริมาณความชื้นและลักษณะปรากฏ เพื่อให้สามารถออกแบบสูตรให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ และมีเนื้อสัมผัสตามต้องการได้
ผลงานวิจัย
เนื้อหมูนุ่มที่ผ่านกระบวนการปรับเนื้อสัมผัสให้บดเคี้ยวและกลืนง่ายนี้สามารถปรับระดับความแข็งด้วยปริมาณเนื้อหมูที่ใช้ โดยพบว่าเมื่อนำไปต้มให้สุกและวิเคราะห์ความแข็งตามมาตรฐาน Universal Design Food (UDF) สำหรับอาหารผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาการเคี้ยวและ/หรือการกลืนของประเทศญี่ปุ่นแล้ว พบว่า มีค่าความแข็งในระดับที่เคี้ยวง่ายด้วยฟัน (UDF1) หรือที่สามารถบดให้แตกได้ด้วยเหงือก (UDF2)
ค่าความแข็งสูงสุดของผลิตภัณฑ์อาหารตามมาตรฐาน UDF ของประเทศญี่ปุ่น
เมื่อนำไปเตรียมเป็นเมนูอาหารไทย และทดสอบคุณภาพเชิงประสาทสัมผัสกับกลุ่มผู้บริโภคสูงอายุ ( มากกว่า60 ปี) พบว่า มีเนื้อสัมผัสนุ่ม เคี้ยวและกลืนง่าย ฉ่ำน้ำ มีรสชาติและลักษณะปรากฏเหมือนเมนูที่เตรียมจากเนื้อหมูปกติ อีกทั้งยังกลืนง่ายกว่าเมนูเดียวกันที่เตรียมจากเนื้อหมูปกติอีกด้วย
สถานภาพงานวิจัย
อยู่ระหว่างการศึกษาคุณภาพเชิงประสาทสัมผัสกับผู้ทดสอบกลุ่มเป้าหมายที่มีภาวะการเคี้ยวและกลืนลำบาก
แผนงานในอนาคต
ศึกษาการนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อาหารประเภทพร้อมทานแช่เย็นและแช่แข็ง
ทีมวิจัย
ดร.นิสภา ศีตะปันย์ และคณะ ทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหาร กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง
ติดต่อ
งานประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม
คุณชนิต วานิกานุกูล
โทรศัพท์ 0 2564 6500 ต่อ 4788
โทรสาร 0 2564 6369
E-mail : BDD@mtec.or.th