ที่มา
แผ่นพลาสติก (cover plate) ที่ขึ้นรูปด้วยสไตรีน-อะคริโลไนทริล (AS) จากล็อตการผลิตต่างๆ ของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เกิดรอยพ่นคล้ายกับรอยที่เกิดจากความชื้น หรือ ซิลเวอร์สตรีก (silver streaks) ในตำแหน่งต่างๆ บนชิ้นงาน ปัญหาดังกล่าวนี้อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เรซินมีปริมาณความชื้นหลงเหลือมากเกินไป มีโมโนเมอร์ที่เหลือจากปฏิกิริยาโพลิเมอไรเซชัน หรือสารเติมแต่ง (additives) ต่างๆ ที่ผสมลงในเรซิน จึงจำเป็นต้องศึกษาอย่างเป็นระบบเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาการปฏิเสธชิ้นงานได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ
เป้าหมาย
วิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดซิลเวอร์สตรีก และนำเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด
ทีมวิจัยทำอย่างไร
ใช้องค์ความรู้ด้านการวิเคราะห์ทดสอบอัตราการสลายตัวทางความร้อนของโพลิเมอร์ด้วยเทคนิคเทอร์โมกราวิเมตริก (Thermogravimetric Analysis, TGA)
ใช้องค์ความรู้ด้านการออกแบบแม่พิมพ์ฉีดร่วมกับการจำลองสถานการณ์การฉีดเข้าแบบ (injection molding simulation)
ทดลองฉีดขึ้นรูปชิ้นงานแผ่นพลาสติก
ผลงานวิจัย
ซิลเวอร์สตรีกในชิ้นงานแผ่นพลาสติกเป็นประเภทแอร์สตรีก (air streaks) เกิดจากการออกแบบชิ้นงานที่ไม่เหมาะสมและแม่พิมพ์ไม่มีช่องระบายอากาศทำให้อากาศถูกกัก และความรุนแรงของปัญหาจะเพิ่มสูงขึ้นหากฉีดชิ้นงานด้วย AS เกรดที่สลายตัวทางความร้อนได้ง่ายกว่า
สถานภาพการวิจัย
เสร็จสมบูรณ์
ชิ้นงาน cover plate ที่มีตำแหน่งของ gate อยู่ตรงกรอบสี่เหลี่ยมหนา
Air trap ที่เกิดในบริเวณมุมของส่วนกรอบสี่เหลี่ยมภายในชิ้นงาน
แผนงานวิจัยในอนาคต
บริษัทฯ นำองค์ความรู้ที่ได้ไปเป็นแนวทางในการวางแผนการผลิตและการปิด (shutdown) เพื่อทำความสะอาดไลน์การสังเคราะห์เรซิน AS ให้มีรอบระยะเวลาในการผลิตที่ไม่ยาวนานจนเกินไป จนกระทั่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดการสะสมของสารองค์ประกอบต่างๆ ภายในไลน์การสังเคราะห์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกรดที่มีองค์ประกอบของสารที่เกิดการสลายตัวทางความร้อนได้ง่าย ทั้งนี้เพื่อลดโอกาสที่ AS ที่สังเคราะห์ได้จะเกิดการสลายตัวทางความร้อนในระหว่างการฉีดขึ้นรูป
นอกจากนี้บริษัทฯ ยังนำองค์ความรู้ด้านการออกแบบแม่พิมพ์ที่ได้รับคำแนะนำจากทีมวิจัยไปให้คำแนะนำแก่ลูกค้า เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการเกิดอากาศถูกกัก อันเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งที่ทำให้ชิ้นงานฉีดเกิดซิลเวอร์สตรีกได้
รายชื่อทีมวิจัย
ดร. พัชรี ลาภสุริยกุล, จารีนุช โรจน์เสถียร, ดำรงค์ ถนอมจิตร และ ณัชชา ประกายมรมาศ
ติดต่อ
ดร. พัชรี ลาภสุริยกุล
กลุ่มวิจัยกระบวนการทางวัสดุและการผลิตอัตโนมัติ
โทรศัพท์ 02 564 6500 ต่อ 4449
อีเมล patcharl@mtec.or.th