ยางพาราเหลวหนืด: วัตถุดิบตั้งต้นของผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย
งานสื่อสารและขับเคลื่อนความรู้ ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ
ทีมวิจัยผลิตภัณฑ์ยางรูปแบบใหม่ กลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยาง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เห็นความสำคัญของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางรูปแบบใหม่ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG จึงพัฒนาทางเลือกใหม่ๆ ในการแปรรูปยาง เพื่อเพิ่มมูลค่าของยางพารา ช่วยเหลือเกษตรกร ตลอดจนส่งเสริมเอกชนรายย่อยให้มีโอกาสจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงกว่ายางดิบ ลดใช้สารเคมีในผลิตภัณฑ์ ปลอดภัยต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม
เมื่อนำน้ำยางสดมาเติมสารเคมีและปั่นให้น้ำยางเข้มข้นขึ้นจะได้ ‘น้ำยางข้น’ ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์หลายอย่าง เช่น ถุงยาง ถุงมือยาง และลูกโป่ง แต่ถ้านำน้ำยางสดมาเติมกรดให้จับตัวจนมีลักษณะเหมือนเต้าหู้ แล้วรีดน้ำออกให้เป็นแผ่น จากนั้นทำให้แห้งด้วยการนำมารมควันจะได้ ‘ยางแผ่นรมควัน’ หากผึ่งแห้งหรืออบด้วยลมร้อนจะได้ ‘ยางแผ่นผึ่งแห้ง’ หรือหากนำยางที่จับตัวเหมือนเต้าหู้มาย่อยให้เป็นฝอยๆ จากนั้นอบให้แห้งแล้วอัดเป็นแท่งจะได้ ‘ยางแท่ง’
ทั้งยางแผ่นและยางแท่งเมื่อนำมาผสมกับสารเคมีต่างๆ ในเครื่องผสมจะได้ยางคอมพาวนด์ที่นำไปอัดขึ้นรูปและวัลคาไนซ์ เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์หลายอย่าง เช่น ยางล้อรถยนต์ ยางวงรัดของ และรองเท้า
ทีมวิจัยได้ปรับปรุงกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์จากเดิม ด้วยการปรับลักษณะทางกายภาพของยางแผ่นหรือยางแท่งให้มีลักษณะเป็นยางเหลวหนืด (โดยที่ไม่ต้องเตรียมเป็นยางคอมพาวนด์หรือขึ้นรูปด้วยกระบวนการแบบเดิม) ยางพาราเหลวหนืดนี้สามารถนำไปใช้งานได้ทั้งในรูปแบบของยางที่ไม่ผ่านการวัลคาไนซ์ (vulcanization) เช่น ใช้เป็นสารช่วยในกระบวนการผลิต และเป็นตัวประสานในการผลิตผลิตภัณฑ์ เช่น ยางปั้นจากสารธรรมชาติ หรือผลงานวิจัยจากเอ็มเทคชื่อ ‘Para Dough’
ทั้งนี้เมื่อทำการวัลคาไนซ์ ยางพาราเหลวหนืดนี้จะเปลี่ยนเป็นเจลยางที่มีสมบัติกระจายแรงได้ดีเหมาะสำหรับการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทเจลรองนั่ง หรือ ผลงานวิจัยจากเอ็มเทคชื่อ ‘Para Cushion’, เบาะรองนอน, แผ่นฝึกการทรงตัว, และยางบีบเพื่อบริหาร เป็นต้น
เจลยางที่ได้จากการวัลคาไนซ์ยางพาราเหลวหนืด ผ่านการทดสอบสมบัติเชิงกล สมบัติการกระจายแรง และความเป็นพิษต่อเซลล์ผิวหนัง (cytotoxicity) โดยเจลยางที่พัฒนานี้มีความยืดหยุ่นสูง สามารถคืนตัวได้ดี เกิดการยุบตัวถาวรน้อย เมื่อนำมาผลิตเป็นเจลรองนั่งจะช่วยกระจายแรงได้ดี ลดแรงกดทับบริเวณก้นกบและหลังส่วนล่างจากการนั่งเป็นเวลานาน เจลให้ความรู้สึกเย็นสบายเวลานั่ง ไม่เป็นพิษต่อเซลล์จึงปลอดภัยต่อผู้ใช้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สนใจติดต่อ
งานประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ (คุณเนตรชนก ปิยฤทธิพงศ์)
โทรศัพท์ 0 2564 6500 ต่อ 4301
อีเมล netchanp@mtec.or.th