จุดเด่นของผลิตภัณฑ์:
โรงอบยางแผ่นประสิทธิภาพสูงด้วยพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับอบแห้งยางแผ่นได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น และสามารถทำงานร่วมกับเครื่องจับตัวน้ำยางกึ่งอัตโนมัติเพื่อผลิตยางแผ่น ซึ่งตอบสนองความต้องการของกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ยางพาราที่ผลิตยางแผ่น และช่วยลดปัญหาที่พบ เช่น ความแห้งของยางแผ่นดิบ เชื้อราที่เกิดขึ้นบนแผ่นยาง และระยะเวลาที่ใช้ในการอบแห้งนาน
โอกาสทางการตลาด:
ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางธรรมชาติมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกคิดเป็นร้อยละ 40 ของปริมาณการส่งออกยางทั้งหมดและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี แม้ว่ายางพาราจะเป็นที่ต้องการของตลาด แต่กลับพบว่า เกษตรกรผู้ปลูกยางพารายังประสบปัญหาราคายางตกต่ำ ที่เกิดจากปริมาณยางล้นตลาด คุณภาพที่ลดลงของน้ำยางระหว่างการขนส่ง หรือกระบวนการเก็บรักษา และที่สำคัญการแข่งขันทางการตลาดสูงขึ้นจากการปลูกยางพาราในประเทศต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น และการใช้ยางสังเคราะห์มาทดแทนยางพาราในบางผลิตภัณฑ์ด้วย
การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการใช้งานยางพาราให้ครบตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ด้วยกิจกรรมเพิ่มศักยภาพกระบวนการผลิตตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บรักษาหลังการกรีดจากต้น การแปรรูปก่อนส่งเข้ากระบวนการผลิต รวมถึงการเก็บรักษายางให้มีคุณภาพดีและคงที่ นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางเลือกอื่น ๆ เพื่อขยายฐานการใช้งานยางพาราให้เพิ่มมากขึ้น โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรที่เป็นหน่วยการผลิตที่เล็กที่สุดและมักได้รับผลกระทบจากปัญหาของการผลิตก่อนเสมอมีโอกาสผลิตยางพาราอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต หนึ่งในกิจกรรมที่จะมาช่วยตอบโจทย์ความต้องการได้ คือ การพัฒนาออกแบบโรงอบแบบใหม่ที่สามารถอบแห้งยางแผ่นได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น
โรงอบแบบใหม่นี้ช่วยลดต้นทุนในการผลิตยางแผ่น เพิ่มคุณภาพ สร้างความหลากหลายของชนิดยางดิบ และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยาง
อ้างอิง : บทคัดย่อข้อเสนอโครงการ “การพัฒนาการแปรรูปน้ำยางสดด้วยเทคโนโลยีที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม”, MTEC
ขอบเขตเทคโนโลยีที่จะถ่ายทอด:
ถุงมือยางทางการแพทย์ เช่น ถุงมือยางสำหรับตรวจโรค และถุงมือยางสำหรับผ่าตัด
กลุ่มผู้ใช้ผลิตภัณฑ์:
1. วิสาหกิจชุมชน
2. สหกรณ์ยางพารา
3. เกษตรกรรายย่อย
4. อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมผลิตยางดิบ
5. หน่วยงานวิจัยและสถาบันการศึกษาเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมผลิตยางดิบ
กลุ่มผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยี:
1. วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกยางพารา
2. สหกรณ์ยางพารา
3. อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมผลิตยางดิบ
4. หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
ความต้องการในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการใช้ประโยชน์:
1. การร่วมทดสอบภาคสนาม และการขยายผล
2. การเชื่อมต่อกระบวนการอบแผ่นยางเข้ากับเครื่องจับตัวน้ำยางสดกึ่งอัตโนมัติเพื่อเสนอเป็นการทำงานต่อเนื่องกัน
ทรัพย์สินทางปัญญา :
อยู่ระหว่างการยื่นขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
สนใจติดต่อ:
งานประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม
เนตรชนก ปิยฤทธิพงศ์
Email: netchanp@mtec.or.th
โทรศัพท์: 0 2564 6500 ext. 4301