DE4CE

โครงการการสร้างความร่วมมือระดับทวิภาคี ด้านการออกแบบเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน (De4CE) และ กลไกการประเมิน พลาสติกหลังการใช้งาน

"การออกแบบผลิตภัณฑ์ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน มีความสำคัญอย่างมาก สำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติก ที่จะทำให้พลาสติกซึ่งเป็นวัสดุที่มีความซับซ้อนและแยกแยะยาก และมีหลายฟังก์ชัน สามารถคงคุณค่าในระบบเศรษฐกิจได้นานจนเท่าช่วงชีวิตหรือก่อนจะเสื่อมสภาพ และ ก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนน้อยที่สุด"

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อพัฒนาความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ หน่วยงานพันธมิตรและผู้ประกอบการไทย เพื่อนำไปสู่การสร้างขีดความสามารถในการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน (De4CE) และการพัฒนากลไก เพื่อการบริหารจัดการพลาสติก (บรรจุภัณฑ์) ในประเทศ
  2. เพื่อพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย (บนพื้นฐานของข้อมูลจริงในประเทศ) แนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพในการหมุนเวียนพลาสติก (จากบรรจุภัณฑ์) และ แนวทางการพัฒนาคุณภาพและการเพิ่มความเชื่อมั่นในพลาสติกรีไซเคิลที่ผลิตในประเทศไทย

หน่วยงานผู้ให้ทุน

สำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ระยะเวลาโครงการ

เดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ผลิตภัณฑ์พลาสติกเป็นส่วนสนับสนุนที่สำคัญของการพัฒนาของแทบทุกอุตสาหกรรม แต่ในขณะเดียวกัน ไทยก็ตกอยู่ในอันดับ 6 จาก 10 ประเทศที่ก่อให้เกิดขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุด จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและการบริโภคพลาสติกของไทยให้ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน  

ปัญหาจากการใช้งานพลาสติกอย่างไม่รู้ค่า ก็ยังก่อให้เกิดกระแสต่อต้านพลาสติกไปทั่วโลก แต่การจะปฏิเสธพลาสติกในขณะที่ยังไม่มีวัสดุอื่นที่ตอบโจทย์ได้อย่างยั่งยืนกว่า ก็ไม่ส่งผลดีเช่นกัน จึงมีแรงผลักดันให้มุ่งไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนของพลาสติก ที่คงคุณค่าผลิตภัณฑ์พลาสติกในระบบเศรษฐกิจ ไปพร้อมกับการสร้างความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่มาของนโยบาย Green deal ของสหภาพยุโรป ที่นำไปสู่การประกาศปฏิญาณของบริษัทผู้ผลิตชั้นนำทั่วโลก ในการใช้พลาสติกรีไซเคิลในผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะ พลาสติกหลังการใช้งานหรือพลาสติก PCR (post-consumer recycled plastics) มากขึ้น และกระทบมาถึงผู้ประกอบการในโซ่อุปทานโลก รวมถึงประเทศไทย ที่ต้องทำตามข้อกำหนดนี้ โดยยังคงสมรรถนะและความปลอดภัย ของผลิตภัณฑ์

ด้วยทั้งการออกแบบตามหลักคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และ การผลิตและการรับรองคุณภาพและที่มาของพลาสติก PCR ยังเป็นเรื่องใหม่ ทุกภาคส่วนจึงต้องได้รับการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในด้านนี้ โครงการความร่วมมือทวิภาคีนี้ จึงเป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่าง เอ็มเทค และ ศาสตราจารย์ ดร. Mattias Lindahl จาก Department of Management and Engineering มหาวิทยาลัยลินเชอปิง (Linköping University) ประเทศสวีเดน เพื่อร่วมกันสร้างขีดความสามารถในการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียนของอุตสาหกรรมไทย และ พัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 

การจัดหลักสูตรเข้มข้น

เอ็มเทคได้ออกแบบและจัดการฝึกอบรมหลักสูตรเข้มข้น (Intensive course) ในหัวข้อ “การออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Designing Plastic Products in Circular Economy)” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 213 คน (เป็นผู้เข้าร่วมทำ workshop จำนวน 56 คน) จากทุกส่วนในโครงข่ายคุณค่าพลาสติก  พบว่าผู้ผ่านการฝึกอบรมมีความเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องมีความเข้าใจที่สอดคล้องกันตลอดเครือข่ายคุณค่า และ มีการปรับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นสากลมากขึ้น กิจกรรมดังกล่าวยังทำให้เกิดการขยายความร่วมมือไปสู่ทุกภาคส่วนในโครงข่ายคุณค่าพลาสติกของไทย   

หลักสูตรเข้มข้น Designing Plastic Products for Circular Economy

กำหนดการ

จำนวน 6 วัน ระหว่างวันที่ 1 – 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564

โปรแกรม

ตารางหลักสูตร คลิกที่นี่

วิดีโอการบรรยาย

ลิงค์วิดีโอการบรรยาย บางส่วน

ประชาสัมพันธ์

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

 เอ็มเทคได้ทบทวนมาตรฐาน สัมภาษณ์/เยี่ยมชมสถานประกอบการ และสุ่มทดสอบตัวอย่างเศษบรรจุภัณฑ์และเม็ดพลาสติก PCR เพื่อนำมาเป็นข้อมูล ข้อเท็จจริง ในพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยได้ชูประเด็นในด้านการผลิตพลาสติก PCR ที่เป็นที่ยอมรับ ที่จำเป็นต้องมีการพัฒนา 3T ได้แก่ Transparency – ความโปร่งใส Traceability – การตรวจสอบย้อนกลับได้ และ Trust – ความน่าเชื่อถือ อันจะเป็นการยกระดับผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพเชิงเทคโนโลยีวัสดุและเทคโนโลยีการผลิตอยู่แล้ว ให้สามารถผลิตวัสดุรอบสองและรอบต่อไปให้มีคุณภาพ แล้วหากสามารถเสริมด้วยการสื่อสาร/ส่งทอดข้อมูลวัสดุตลอดโซ่คุณค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลสารเคมีในวัสดุ (Chemicals in products: CiP) ก็จะทำให้สามารถผลิตวัสดุรอบสองที่มีความปลอดภัยได้ นอกจากนี้ยังเห็นว่า ควรสนับสนุนเทคโนโลยีที่ส่งเสริมการออกแบบเพื่อการพัฒนาฟังก์ชันและการหมุนเวียนวัสดุ ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อติดตามหรือสื่อสารข้อมูลวัสดุ (รวมถึงสารเคมีในเนื้อวัสดุ) และการให้ข้อมูลเพื่อระบุจุดที่มีการสูญเสียสูง เพื่อไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรและการคงคุณค่าวัสดุอย่างมีประสิทธิภาพตลอดโซ่อุปทาน