ตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับ TBBPA

Tetrabromo-Bisphenol A หรือ TBBPA (CAS No. 79-94-7) เป็นสารหน่วงการติดไฟ ที่มีใช้ทั้งแบบ Reactive Flame Retardant (สารที่ใส่เข้าไปแล้วทำปฏิกิริยากับเนื้อวัสดุ และเมื่อ Cure ได้ที่ตามสูตรผสมแล้วจะได้สารเคมีชนิดใหม่ที่ไม่ใช่ TBBPA) และ แบบ Additive Flame Retardant ที่เป็นสารเติมแต่งที่ผสมในเนื้อวัสดุแบบไม่ทำปฏิกิริยา (คล้าย PBDE) 

 

จากข้อมูลของ IARC ระบุว่าประมาณกว่าครึ่ง (58%) ของ TBBPA ที่มีการผลิตขึ้น ถูกใช้เป็นสารหน่วงการติดไฟ (Reactive flame retardant) ในวัสดุกลุ่มอีพอกซี่ โพลิคาร์บอเนต (PC) และฟีโนลิก ซึ่งเป็นวัสดุหลักที่ใช้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ และ IC (Molded Resins) TBBPA อีกประมาณ 18% ถูกใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตสารประกอบ TBBPA ชนิดอื่น (บางตัวเช่น TBB_A-DBPE (Tetrabromobisphenol A bis (2,3-dibromopropyl ether) ผลิตเพื่อนำมาใช้เป็นสารหน่วงการติดไฟเช่นกัน) และอีกประมาณ 18% ถูกนำไปใช้เป็นสารหน่วงการติดไฟแบบ Additive Flame Retardant คล้าย PBDE โดยมีใช้ผสมใน ABS และ HIPS 

ในช่วงที่ PBDE ถูกกำหนดเป็นสารต้องห้าม ผู้ผลิตจำนวนหนึ่งหันมาใช้ TBBPA เป็นสารทดแทน ทำให้ในปัจจุบัน โอกาสที่จะพบชิ้นส่วน/สินค้า ที่มี TBBPA ในตัวจะมีมากกว่า PBDE ไปแล้ว 

พบ TBBPA ในฝุ่นในบ้าน

TBBPA และ TBBPA Derivatives ที่ถูกนำไปใช้ในลักษณะสารเติมแต่ง (คล้าย PBDE) ในวัสดุอื่น มีปัญหาเหมือนๆ กับ PBDE กล่าวคือ สารเติมแต่งเหล่านี้สามารถ “หลุด” หรือรั่วไหลออกจากเนื้อวัสดุได้ตลอดเวลา โดยอัตราการรั่วไหลมักสูงขึ้นวัสดุอยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสูง และเมื่อหลุดออกจากเนื้อวัสดุ สารเหล่านี้มักเกาะติดอยู่กับฝุ่น ทำให้เกิดการสะสมสูงขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อเทียบกับ PBDE ซึ่งมีกฎหมายควบคุมเข้มงวดมากกว่า ในขณะที่แทบไม่ค่อยมีกฎหมายในประเทศใดควบคุม TBBPA (แม้กระทั่งใน EU) ทำให้ปริมาณการใช้ TBBPA มีมากกว่า PBDE และทำให้มีรายงานการตรวจพบ TBBPA ในฝุ่นในบ้านเรือนที่อยู่อาศัย มากกว่า PBDE นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาจากทั่วโลกที่ตรวจพบ TBBPA ในน้ำนมมารดา และยังพบว่า TBBPA ที่หลุดออกมาสามารถแตกตัว (ฺDebromination) เกิดเป็น Bisphenol-A ซึ่งเป็นสารอันตรายเช่นเดียวกัน

ผลกระทบ?

TBBPA เป็นสารเคมีที่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ มีรายงานผลการศึกษาที่พบว่าสารนี้เป็นสารก่อกวนการทำงาน ของต่อมไร้ท่อ และเมื่อมีผลการศึกษายืนยันได้ว่าสารนี้อาจเป็นสารก่อมะเร็ง แม้จะไม่ร้ายแรงถึงระดับ Group 1 แต่การเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 2A ที่มีการผลิตจำนวนมาก และมีการใช้งานที่ค่อนข้างแพร่หลาย โดยที่ยังไม่ค่อยมีกลไกใดๆ ควบคุม ย่อมสร้างความกังวลให้กับหน่วยงานต่างๆ ได้มาก ปัจจุบัน ประเทศยักษ์ใหญ่เกือบทุกประเทศ (สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา สหภาพยุโรป) ล้วนมีโปรแกรมการประเมินความเสี่ยงสำหรับสารนี้ โดยล่าสุด EU ได้เสนอให้มีการจำกัดการใช้ TBBPA ในสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้กฎหมาย RoHS V2 ในขณะที่การศึกษา/การประเมินความเสี่ยงในประเทศอื่นๆ ยังไม่ชัดเจน

 อย่างไรก็ดี หลายประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย) มี “กลไกอัตโนมัติ” ให้ต้องขออนุญาตและรายการ/ติดตามปริมาณการใช้ สารใดก็ตามที่เข้าข่าย CMR บางประเทศยังมีข้อกำหนดเพิ่มเติมให้ต้องตรวจติดตามสุขภาพพนักงานเป็นระยะ รวมถึงการตรวจสอบปริมาณการปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม

กฎหมายควบคุม TBBPA ในปัจจุบัน

  • เท่าที่ตรวจสอบได้ในปัจจุบันยังไม่พบว่ามีประเทศใดห้ามใช้  TBBPA แต่สหภาพยุโรปอาจประกาศห้ามใช้ TBBPA ในกฎหมาย RoHS เวอร์ชั่นใหม่
  • EU REACH: TBBPA ได้ถูกบรรจุเข้าในบัญชี Candidate List (SVHC-C) ของสหภาพยุโรปเมื่อ 17 มกราคม 2023 ที่ผ่านมา
  • CA Prop65: TBBPA อยู่ในบัญชีรายชื่อสารที่ต้องสำแดง (ติดป้ายเตือนผู้บริโภค) ตาม Proposition 65 ของรัฐแคลิฟอร์เนีย – หากสินค้ามี TBBPA ในตัว ผู้ผลิตต้องติดป้ายเตือนเพื่อให้ข้อมูลผู้บริโภค ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า
  • TBBPA มีรายชื่อในบัญชีรายชื่อสารที่ต้องสำแดง (ภาคสมัครใจ) ในมาตรฐาน IEC 62474 (Reference – ไม่บังคับ) และ GADSL Lit (D/FI – Information)