การดำเนินงานของเอ็มเทคในโครงการการทำงานร่วมกันเพื่อการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CAP-SEA)
โครงการ CAP-SEA (Collaborative Action for Single-Use Plastic Prevention in Southeast Asia) เป็นโครงการระดับภูมิภาคที่ดำเนินการในประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย บริหารจัดการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมการอนุรักษ์ธรรมชาติและความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) และการสนับสนุนการดำเนินงานจากหลากหลายหน่วยงานในประเทศไทย
วัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้คือการสนับสนุนการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use Plastic: SUP) โดยการออกแบบโมเดลธุรกิจและการพัฒนานวัตกรรมการจัดการที่เหมาะสม ตลอดจนการพัฒนาความสามารถและการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ทั้งนี้ระยะเวลาดำเนินงานของโครงการฯ คือเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566
การดำเนินโครงการในประเทศไทยมี สวทช. ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการกำกับโครงการ CAP-SEA โดยมีสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและ GIZ เป็นฝ่ายเลขานุการ พันธกิจหลักคือการกำหนดเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และกรอบแผนการดำเนินงานโครงการ CAP-SEA ให้สอดคล้องกับนโยบายและมาตรการสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทย
เอ็มเทคมีบทบาทในการขับเคลื่อนผลักดันงาน 2 ส่วนหลัก ได้แก่
- โปรแกรมกรอบนโยบายและกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและแผนที่นำทาง (roadmap) การจัดการขยะพลาสติก โดยการวิเคราะห์ผลกระทบในทุกมิติอย่างรอบด้านบนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
- โปรแกรมแนวปฏิบัติหรือมาตรฐานการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องในการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อยืดอายุการใช้งาน ลดการก่อขยะพลาสติก และเพิ่มอัตราการหมุนเวียนวัสดุกลับมาใช้ใหม่
ที่มาของข้อมูล: https://www.mtec.or.th/annual-report2021/th/ce/