กิจกรรมเพื่อสนับสนุนการทบทวนและปรับทำเนียบสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (POPs Inventory) ของประเทศ และ แผนจัดการระดับชาติเพื่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน

การจัดทำทำเนียบสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (POPs Inventory) ของประเทศ ฉบับที่ 2 และ (ร่าง) แผนจัดการระดับชาติเพื่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน ฉบับที่ 2

วัตถุประสงค์

  1. สร้าง/ทบทวนกลไกความร่วมมือ และ สร้างความตระหนัก
  2. จัดทำทำเนียบสาร POPs ในบัญชีใหม่ 15 รายการ และ ทบทวนข้อมูลสาร POPs ในบัญชีเริ่มต้น 12 รายการ
  3. ประเมินขีดความสามารถและการจัดลำดับความสำคัญในการจัดการสาร POPs ชนิดใหม่
  4. การจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการ (action plans) และ(ร่าง) แผนจัดการระดับชาติเพื่อการปฏิบัติตามข้อบทที่ 7 ของอนุสัญญาฯ

หน่วยงานผู้ให้ทุน

องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization, UNIDO)

ระยะเวลาโครงการ

เดือนเมษายน พ.ศ. 2561 ถึง เดือนมีนาคม พ.ศ. 2563

ประเทศไทยได้ลงนามและให้สัตยาบันในอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Persistent Organic Pollutants หรือ สาร POPs)) เมื่อวันที่  31 มกราคม พ.ศ. 2548  อนุสัญญาฯ นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันปกป้องสุขอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากสาร POPs โดยได้ขึ้นบัญชีสาร POPs จำนวน 12 รายการ ใน 3 บัญชี ตามกลไกที่จะนำมาใช้ในการจัดการ ได้แก่ (1) บัญชีสารต้องห้าม (Annex A for elimination) (2) บัญชีสารควบคุม (Annex B for restriction) และ (3) บัญชีสารที่ก่อโดยไม่จงใจ (Annex C for the reduction of the unintentional production) ในเบื้องต้นมีสาร 9 รายการอยู่ในบัญชีสารต้องห้าม อีก 1 รายการอยู่ในบัญชีสารควบคุม ได้แก่ DDT  และ 4 รายการอยู่ในบัญชีสารที่ก่อโดยไม่จงใจ  และที่ประชุมภาคีสมาชิก (The Conference of Parties, COPs) ของอนุสัญญาสตอกโฮล์มได้ทยอยเพิ่มรายการสารเข้าในบัญชีสาร POPs ในปีต่อๆ มา โดย ณ ปี พ.ศ. 2460 ได้มีรายการใหม่เพิ่มเข้ามาจำนวน 16 รายการ โดยมีสาร 15 รายการอยู่ในบัญชีสารต้องห้าม และ 1 รายการอยู่ในปัญชีสารควบคุม อีกทั้งยังมี 3 รายการอยู่ในบัญชีสารที่ก่อโดยไม่จงใจ โดยที่ทุกภาคีสมาชิกต้องจัดทำแผนจัดการระดับชาติเพื่อทบทวนและปรับปรุงแผนฯ ตามความเหมาะสม ตามที่กำหนดไว้ในข้อบทที่ 7 ของอนุสัญญาฯ

ประเทศไทยได้จัดทำทำเนียบสาร POPs ครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2549 ซึ่งนำไปสู่การจึงจัดทำแผนจัดการระดับชาติฯ ฉบับแรก หลังจากนั้นนับเป็นเวลากว่า 10 ปี  จนกระทั้งปี พ.ศ. 2561 จึงได้มีการจัดทำทำเนียบสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (POPs Inventory) ของประเทศ ฉบับที่ 2 และ (ร่าง) แผนจัดการระดับชาติเพื่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (POPs NIP) ฉบับที่ 2 ซึ่งศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและผู้ดำเนินการหลักผ่านการดำเนินโครงการนี้ จากการสนับสนุนงบประมาณขององค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO)

ในการจัดทำ POPs NIP ฉบับที่ 2 ทีมวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ กรมควบคุมมลพิษ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกันดำเนินการ โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ (NGO) ในประเทศ เพื่อพัฒนาแผนการจัดการสาร POPs ของประเทศ โดยได้มีการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสาร POPs การเสริมสร้างความตระหนักถึงสภาพปัญหาและสถานะการจัดการของประเทศ การประเมินขีดความสามารถและการจัดลำดับความสำคัญในการจัดการสาร POPs ชนิดใหม่ การจัดเวทีรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย และการจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการ (action plans) และ(ร่าง) แผนจัดการระดับชาติเพื่อการปฏิบัติตามข้อบทที่ 7 ของอนุสัญญาฯ

ทำเนียบสาร POPs ของประเทศ (National POPs Inventory) ฉบับที่ 2

ครอบคลุมสาร POPs จำนวน 15 รายการ ที่อยู่ในบัญชีใหม่ ณ ปี พ.ศ. 2560 (ไม่รวมสาร SCCPs) ได้แก่

คลอดิโคน (Chlordecone)
ลินเดน (Lindane หรือ gamma-HCH)
อัลฟา เอชซีเอช (alpha-HCH)
เบตา เอชซีเอช (beta-HCH)
พีอีซีบี (Pentachlorobenzene, PeCB)

เอชบีบี (Hexabromobiphenyl, HBB หรือ PBB)
เพนตะบีดีอี (c-pentaBDE)
ออกตะ บีดีอี (c-octaBDE)
พีฟอส และ พีฟอสเอฟ (PFOS & PFOSF)
เอ็นโดซัลแฟน (Endosulfan)

เอชบีซีดี (Hexabromocyclododecane, HBCD),
พีซีพี(Pentachlorophenol, PCP)
เอชซีบีดี (Hexachlorobutadiene, HCBD)
พีซีเอ็น (Polychlorinated naphthalenes, PCNs)
เดคะ บีดีอี (deca-BDE)