ก.ย. 2565 คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป เผยแพร่ร่างกฎหมายฉบับใหม่ หวังจะใช้ REACH Annex XVII ควบคุมวางตลาด ไมโครพลาสติกสังเคราะห์ (Synthetic polymer microplastics) ไม่ว่าจะเป็นในรูป สารเคมี (Substances) หรือในรูปของผสม (Mixtures) ที่ “ตั้งใจ” ใส่ไมโครพลาสติกสังเคราะห์ กำหนดขีดจำกัด (0.01% โดยน้ำหนัก) คาดว่าน่าจะประกาศใช้ได้ในปี 2023-2024
อะไรบ้างที่ถือเป็น “ไมโครพลาสติกสังเคราะห์”?
ตามร่างกฎหมายนี้ ไมโครพลาสติกสังเคราะห์ หมายถึง โพลิเมอร์ ที่อยู่ในรูปของแข็ง ที่มีอยู่ในอนุภาคและมีอนุภาคเหล่านี้อย่างน้อย 1% หรือที่เป็นพื้นผิวเคลือบอนุภาค ที่อย่างน้อย 1% โดยน้ำหนักของอนุภาคเหล่านี้มีลักษณะต่อไปนี้
- ทุกมิติของอนุภาค มีขนาดเท่ากับหรือต่ำกว่า 5 มิลลิเมตร หรือ
- ความยาวเท่ากับหรือต่ำกว่า 15 มิลลิเมตร และมีค่าความยาวต่อเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 3
เนื่องจากกฎหมายนี้ กำหนด “ไมโครพลาสติกสังเคราะห์” โดยใช้ลักษณะทางกายภาพ จึงไม่สามารถใช้การวิเคราะห์หรือเครื่องมือวิเคราะห์ทางเคมี ในการวิเคราะห์ความสอดคล้องได้ และเนื่องจากกฎหมายจะมีผลบังคับกับไมโครพลาสติกที่ “ตั้งใจ” ใส่ โดยกำหนดขีดจำกัด ต่อหน่วยน้ำหนักของสินค้า (0.01% โดยน้ำหนัก) ก็อาจเกิดปัญหาในการวัด น้ำหนัก ไมโครพลาสติกสังเคราะห์ ตามคำจำกัดความด้านบนได้ ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่า EU จะประเมินความสอดคล้องย่างไร อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายนี้ก็ได้ให้แนวทางในการประเมิน “น้ำหนัก” ของ “ไมโครพลาสติกสังเคราะห์” ในกรณีที่ยังไม่มีวิธีการวิเคราะห์ หรือไม่สามารถหาเอกสารกำกับสินค้าได้ โดยให้คิดเฉพาะ
- กรณีที่เป็น อนุภาค ที่มีขนาดในทุกมิติเท่ากับหรือต่ำกว่า 5 มิลลิเมตร – นับถึงแค่อนุภาคที่มีขนาดตั้งแต่ 1 ไมครอนขึ้นไป
- กรณีเป็น “เส้นใย” ที่มีค่าความยาวต่อเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 3 ที่มีความยาวเท่ากับหรือต่ำกว่า 15 มิลลิเมตร – นับถึงแค่ขนาดในมิติใดๆ ตั้งแต่ 3 ไมครอนขึ้นไป
ไมโครพลาสติกสังเคราะห์ – โพลิเมอร์ที่มีคาร์บอนในโครงสร้างเคมี ที่อยู่ในรูปของแข็ง ที่ละลายน้ำหรือสลายตัวตามธรรมชาติได้น้อย ที่เป็นอนุภาคที่มีขนาดต่ำกว่า 5 มม หรือเป็นเส้นใยที่มีขนาดสั้นกว่า 15 มม
นอกจากนี้ “ไมโครพลาสติกสังเคราะห์” ตามความหมายของกฎหมายนี้ยัง ไม่รวม
- โพลิเมอร์ที่เป็นผลจากกระบวนการ Polymerization ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ – ที่ไม่ได้ถูกนำมาดัดแปลงเชิงเคมี
- โพลิเมอร์ ที่สลายตัวได้ตามธรรมชาติ
- โพลิเมอร์ ที่ละลายน้ำได้ (ค่า solubility สูงกว่า 2g/L)
- โพลิเมอร์ ที่ไม่มี คาร์บอน ในโครงสร้างเคมี (เช่น Geopolymer)
สินค้า ที่จะถูกควบคุม
สินค้าที่จะถูกควบคุมไม่ให้นำไปวางตลาด เป็นสินค้าที่อยู่ในรูปสารเคมี/เคมีภัณฑ์ ต่อไปนี้
- การใช้ในการห่อหุ้มหัวน้ำหอม (encapsulation of fragrances) – (ให้เวลาปรับตัว 6 ปี)
- การใช้ในสินค้า “Rinse-off products” (เช่น โฟมล้างหน้า) – (ให้เวลาปรับตัว 4 ปี) เว้นแต่จะเป็นสินค้าที่อยู่ในข้อ a) หรือใช้เป็นไมโครบีดส์ (ใช้ขัดผิว)
- การใช้ในสินค้ากลุ่มลิปสติก ยาทาเล็บ และเครื่องแต่งหน้า (make-up) – (ให้เวลาปรับตัว 12 ปี) เว้นแต่จะเป็นสินค้าในขอบข่ายข้อ a) หรือ b) (แต่ในระหว่างนี้ อาจต้องติดเครื่องหมาย “สินค้านี้มีไมโครพลาสติก” เพื่อให้ข้อมูลผู้บริโภค)
- เครื่องสำอางกลุ่ม Leave-on products (ให้เวลาปรับตัว 6 ปี)
- ผงซักฟอก แวกซ์ สารเคลือบผิว (Polishes) และผลิตภัณฑ์ฟอกอากาศ (air care products) (ให้เวลาปรับตัว 5 ปี) เว้นแต่จะเข้าข่ายข้อ a)
- เวชภัณฑ์ตามขอบเขตของ Regulation 2017/745 (ให้เวลาปรับตัว 6 ปี) เว้นแต่จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีไมโครบีดส์
- “ปุ๋ย” ที่ไม่ถูกควบคุมโดย Regulation /019/1009 (ให้เวลาปรับตัว 5 ปี)
- สารเคมีกลุ่มยาฆ่าแมลงและปราบปรามศัตรูพืช (ให้เวลาปรับตัว 8 ปี)
- สารเคมีที่ใช้ในงานการเกษตรและพืชสวน (ให้เวลาปรับตัว 5 ปี)
- เม็ด Infill สำหรับพื้นผิวสังเคราะห์ในงานกีฬา (เช่นสนามหญ้าเทียม) (ให้เวลาปรับตัว 6 ปี)
ในช่วงระหว่างการปรับตัวที่ให้ ผู้ผลิตจะต้องทำรายงานส่งเจ้าหน้าที่ทุกปี โดยรายงานนี้ นอกจากจะครอบคลุมปริมาณที่ใช้แล้ว ยังรวมถึงการประมาณปริมาณที่ ตน ทำให้เกิดการรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมด้วย
ผู้ผลิตที่ต้องมีควบคุมการใช้งาน
นอกจากการควบคุมการวางตลาดสินค้าในรูปเคมีภัณฑ์แล้ว กฎหมายฉบับนี้ยังมีข้อกำหนดให้ผู้ผลิตและผู้ใช้ (downstream users) เม็ดพลาสติก (pellets) เฟลก และผงพลาสติก ที่มีไมโครพลาสติกสังเคราะห์ เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ หรือใช้ในไซต์อุตสาหกรรม ต้องรายงานข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่ ทุกปี โดยข้อมูลที่ต้องรายงานประกอบด้วย (อย่าลืมว่า กฎหมาย EU บังคับเฉพาะผู้ผลิตใน EU เท่านั้น – แต่ลูกค้าใน EU อาจต้องการข้อมูลจาก Supplier เพื่อทำรายงาน)
- รายละเอียดเกี่ยวกับการใช้ ไมโครพลาสติกสังเคราะห์ ในปีที่ผ่านมา
- งานที่ใช้ รวมถึง ลักษณะของโพลิเมอร์ที่ใช้ไมโครพลาสติกสังเคราะห์ เหล่านี้
- ประมาณปริมาณ ไมโครพลาสติกสังเคราะห์ ในงานแต่ละงาน ที่มีการรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อม
งานที่อยู่นอกเหนือขอบข่าย หรือได้รับการยกเว้น
กฎหมายฉบับนี้จะไม่ใช้กับ การวางตลาดสินค้าต่อไปนี้
- ไมโครพลาสติกสังเคราะห์ สำหรับใช้ในไซต์อุตสาหกรรม (มีข้อกำหนด ให้ต้องดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปลดปล่อยไมโครพลาสติกออกสู่สิ่งแวดล้อม
- เวชภัณฑ์
- ปุ๋ย
- สารเติมแต่งอาหาร และ
- in vitro diagnostic devices
นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้จะให้การยกเว้นโดยจะไม่ใช้กับการวางตลาด ไมโครพลาสติกสังเคราะห์ที่
- มีเทคนิคที่ทำให้สามารถควบคุมไม่ให้เกิดการรั่วไหลงสู่สิ่งแวดล้อมตลอดการใช้งานที่คาดหวัง
- เป็นไมโครพลาสติกสังเคราะห์ที่เมื่อนำไปใช้ในงานที่คาดหวังแล้ว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร จนทำให้ไม่เหลือสภาพเป็น “ไมโครพลาสติกสังเคราะห์” อีกต่อไป
- เป็นไมโครพลาสติกสังเคราะห์ที่จะยึดติดแน่นกับของแข็ง (Solid matrix) อย่างถาวรตลอดช่วงการใช้งานที่คาดหวัง
สำหรับงานที่อยู่นอกเหนือขอบเขต หรืองานที่ได้รับการยกเว้น (ภายใน 24 เดือน) ซัพพลายเออร์ จะต้องให้คำแนะนำในการใช้และทิ้งอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปลดปล่อยไมโครพลาสติกออกสู่สิ่งแวดล้อม
ผู้ผลิตไทยจะได้รับผลกระทบไหม?
ในเบื้องต้น ผู้ผลิตที่จะได้รับผลกระทบโดยทางตรง น่าจะเป็นผู้ที่ผลิตสินค้าที่เข้าข่ายเป็น “เคมีภัณฑ์” (เครื่องสำอาง เคมีเกษตร รวมถึงเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในบ้าน เช่น ผงซักฟอก น้ำยาล้าง-ขัดพื้น ฯลฯ) และผู้ผลิตเม็ด Infill สำหรับพื้นผิวสังเคราะห์ในงานกีฬา ผู้ผลิตสินค้ากลุ่มนี้ อาจต้องเริ่มสำรวจการใช้ ไมโครพลาสติกสังเคราะห์ ในสินค้าของตน
แต่ก็อาจมีผู้ผลิตใน Supply chain ที่มีลูกค้าที่เป็นผู้ใช้ เม็ดพลาสติก (pellets) เฟลก และผงพลาสติก ที่มีไมโครพลาสติกสังเคราะห์ เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ ที่กฎหมายบังคับให้ Downstream users ต้องรายงานข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่ทุกปี ซึ่งหากวิเคราะห์จากรูปแบบการสอบถามข้อมูลในโซ่การผลิตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นไปได้ที่ผู้ผลิตไทย จะถูกบังคับให้ต้องสำแดงข้อมูล “ส่วนผสมไมโครพลาสติกสังเคราะห์” ไม่ว่าจะสินค้าที่ผลิต ที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องก็ตาม