บริษัท บี ไอ จี เนเชอรัล กรีน จำกัด
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย
งานสื่อสารและขับเคลื่อนความรู้
ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ
บริษัท บี ไอ จี เนเชอรัล กรีน จำกัด ดำเนินธุรกิจผลิตอาหารเพื่อสุขภาพที่ปราศจากเนื้อสัตว์ เช่น อาหารจากโปรตีนพืช (plant-based food) ภายใต้แบรนด์ “GIN ZHAI” หรือ “กินใจ” บริษัทฯ มีนโยบายที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพที่ปราศจากโปรตีนจากเนื้อสัตว์ แต่ยังคงคุณค่าทางโภชนาการ รสชาติและเนื้อสัมผัสมีความหลากหลาย และมีราคาที่เข้าถึงได้ ภายใต้แนวคิดที่เชื่อมโยงวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของไทยเข้ากับนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต
คุณธนินท์รัฐ เมธีวัชรรัตน์ กรรมการ บริษัท บี ไอ จี เนเชอรัล กรีน จำกัด กล่าวถึงที่มาของการร่วมมือกับเอ็มเทคว่า “ปัจจุบันกระแสการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น อาหารจากโปรตีนพืช ได้รับความนิยมมากขึ้น ถ้าเราสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับปรุงอาหารไทยและเป็นโปรตีนจากพืชด้วยก็น่าจะตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ได้ บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ เมื่อมีโอกาสได้เข้ารับการอบรมเรื่องอาหารแห่งอนาคตกับเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ภายใต้หน่วยงานของ สวทช. บริษัทฯ จึงได้มองหานวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต และได้พบกับ ดร.กมลวรรณ อิศราคาร นักวิจัยของเอ็มเทค ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านโปรตีนเกษตรและพัฒนาเนื้อไก่จากพืช หลังจากที่เราได้ทดลองชิมแล้ว จึงสนใจและขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้”
คุณธนินท์รัฐ กล่าวว่า “จากประสบการณ์ทำงานที่คาบเกี่ยวระหว่างเทคโนโลยีนวัตกรรมและกลุ่มผู้บริโภคอาหารเจพบว่า โปรตีนเกษตรดั้งเดิมที่มาทดแทนเนื้อสัตว์มีปัญหาหลายอย่าง เราจึงต้องการพัฒนาให้ดีขึ้น และเมื่อได้พูดคุยกับทีมวิจัยเอ็มเทค ก็พบว่าทีมวิจัยไม่เพียงแค่เข้าใจเรื่องเนื้อสัมผัส โครงสร้างของอาหารซึ่งเป็นเรื่องวิชาการเท่านั้น แต่ยังเข้าใจบริบทของการทำธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงราคาต้นทุน ตลาด รวมทั้งคู่แข่งได้เป็นอย่างดี เราจึงรู้สึกมั่นใจว่าทีมวิจัยจะสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของบริษัทฯ และสามารถผลิตไปสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง นี่เป็นจุดเด่นของทีมวิจัยเอ็มเทค”
สำหรับการตอบรับจากลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย คุณสุรีย์พร ฉัตรมั่งมี ผู้บริหารกลุ่มตลาดเจ กล่าวว่า “จากการทำตลาดและทดลองจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อไก่จากพืชชนิดผง (plant-based chicken premix) พบว่าได้รับการตอบรับที่ดี โดยมีลูกค้าจากหลากหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น (flexitarian) กลุ่มวีแกน (vegan) กลุ่มมังสวิรัติ (vegetarian) และกลุ่มกินเจที่มีช่วงอายุที่กว้างมากขึ้น รวมถึงกลุ่มที่ต้องเดินทางเพราะเป็นสินค้านวัตกรรมที่พกพาง่าย”
เมื่อถามถึงการทำงานว่าเป็นไปตามที่บริษัทคาดหวังหรือไม่และมีข้อเสนอแนะอย่างไร คุณธนินท์รัฐ กล่าวว่า “ทีมวิจัยทำงานเข้ากันได้ดีกับบริษัทฯ ทำให้ผลงานเป็นไปตามระยะเวลาที่บริษัทคาดหวัง แต่สิ่งที่ต้องการให้เอ็มเทคพัฒนาต่อยอดต่อไปคือ เพิ่มการใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่ายในประเทศให้มากขึ้น และในอนาคตนอกจากเนื้อไก่แล้วอาจจะขยายผลไปสู่เนื้อปลา เนื้อวัว และเนื้อแพะ รวมถึงอาหารที่ผู้สูงอายุสามารถทานได้ ย่อยง่าย และมีคุณค่าทางโภชนาการมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ หากพัฒนาให้มีราคาต้นทุนที่ต่ำลงมากยิ่งขึ้นก็จะเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถสู้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้”
คุณสุรีย์พร กล่าวเสริมว่า “การที่ทีมวิจัยลงพื้นที่ไปที่โรงงานผลิตที่จังหวัดชุมพรนั้น ช่วยให้งานสำเร็จไปได้ด้วยดีเป็นไปตามเวลา ส่วนการต่อยอดงานวิจัยนั้น เมื่อก่อนอาหารเจส่วนใหญ่มาจากแป้ง ถ้าสามารถพัฒนาให้มีแหล่งโปรตีนและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะคนที่แพ้โปรตีนจากถั่วเหลืองก็จะมีทางเลือกเพิ่มขึ้น และถ้าพัฒนาให้เสมือนจริงทั้งความนุ่มและกลิ่นด้วยก็จะดีมาก”
ในอนาคตนอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว คุณธนินท์รัฐ ให้ข้อมูลว่า “บริษัทฯ ยังต้องการให้ทีมวิจัยช่วยผลักดันโครงการ ‘งานวิจัย กินได้ กินดี’ ที่บริษัทฯ ร่วมกับสมาคมโรงแรมและร้านอาหารในการนำผลิตภัณฑ์เนื้อไก่จากพืชชนิดผงไปเป็นส่วนผสมสำคัญในการรังสรรค์เมนูต่างๆ โดยเชฟมืออาชีพ บริษัทฯ ต้องการให้ทีมวิจัยให้ความรู้เชิงวิชาการในมุมมองของนักวิจัยแก่ผู้ร่วมโครงการ ในขณะที่บริษัทฯ เป็นผู้ให้ข้อมูลเชิงพาณิชย์”
“ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความภูมิใจที่จะนำเสนอให้คนทั่วโลกรู้ว่าผลิตภัณฑ์เนื้อไก่จากพืชชนิดผงเป็นผลงานวิจัยอันเกิดจากความเชี่ยวชาญของนักวิจัยเอ็มเทค สวทช. ด้วยเหตุนี้จึงต้องการนำเสนอความสามารถและความเชี่ยวชาญที่โดดเด่นของทีมวิจัยควบคู่ไปกับผลงาน” คุณธนินท์รัฐ กล่าวสรุป
สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ชนิต วานิกานุกูล
งานประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
โทรศัพท์ 0 2564 6500 ต่อ 4788
อีเมล: chanitw@mtec.or.th