กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย
งานสื่อสารและขับเคลื่อนความรู้
ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) มีภารกิจหลักในการจัดหาและบริหารจัดการวัตถุดิบ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ทั้งวัตถุดิบจากแหล่งแร่ธรรมชาติ (หรือ Primary Raw Materials) และวัตถุดิบทดแทนที่ได้จากการรีไซเคิลขยะหรือของเสีย (หรือ Secondary Raw Materials) เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนของผู้ประกอบการไทย โดยคำนึงถึงความสำคัญของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์และมูลค่าเพิ่มสูงสุด ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

ดร.ธีรวุธ ตันนุกิจ ผู้อำนวยการกองนวัตกรรมวัตถุดิบและอุตสาหกรรม กพร. กล่าวว่า “กพร. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในเรื่อง การขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์และมูลค่าเพิ่มสูงสุด เพื่อตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาประเทศสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) รวมทั้งมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission หรือ Net Zero Carbon)

“โดยที่ผ่านมา กพร. ได้ส่งเสริม พัฒนา และยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างครบวงจร ครอบคลุมการดำเนินงานตั้งแต่การถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการ การจัดทำเกณฑ์และตัวชี้วัดเพื่อประเมินประสิทธิภาพการประยุกต์ใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร โดยอ้างอิงตาม มตช.2-2562 แนวทางการใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร พร้อมจัดทำระบบการประเมิน Online เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถประเมินได้ด้วยตนเอง การส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัตถุดิบคุณภาพสูงเพื่อให้มีการนำทรัพยากรมาใช้อย่างคุ้มค่า การส่งเสริมการออกแบบตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Design for Circular Economy) การพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดการเกิดของเสีย การพัฒนาและยกระดับสถานประกอบการทั้งในเรื่องมาตรฐานและเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงตลาดสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain) ที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียนและการพัฒนาที่ยั่งยืน การส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกขยะหรือของเสียที่ถูกต้อง ปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีรีไซเคิลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเปลี่ยนขยะหรือของเสียที่เกิดขึ้นให้กลายเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ ผ่านศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลของ กพร. การเชิดชูเกียรติผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่นำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนไปประยุกต์ใช้จนประสบความสำเร็จ ด้วยการพิจารณาคัดเลือกอุตสาหกรรมดีเด่น ประเภทเศรษฐกิจหมุนเวียน และการขยายผลให้ผู้ประกอบการมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนในวงกว้างเพิ่มขึ้น ด้วยการรวบรวมองค์ความรู้และจัดทำเป็นระบบ E-learning”

สำหรับโครงการที่ กพร. ได้มอบหมายให้เอ็มเทคเป็นที่ปรึกษาดำเนินงาน ได้แก่ โครงการส่งเสริมการออกแบบตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Design for Circular Economy) ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนตั้งแต่ต้นทางเพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใหม่ ลดการเกิดขยะและปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน และสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับประชาชน

ดร.ธีรวุธ เล่าว่า “โครงการนี้ให้ความสำคัญเรื่องการออกแบบ ครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์ การออกแบบกระบวนการผลิต การเลือกใช้วัตถุดิบหรือวัสดุ การคำนึงถึงการใช้งาน การซ่อมแซมและยืดอายุการใช้งาน และการจัดการเมื่อสิ้นอายุการใช้งาน ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับวัสดุ เนื่องจาก กพร. เห็นว่าเอ็มเทคมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านวัสดุและโลหะ มีเครื่องมือทดสอบวิจัยที่ทันสมัย มีเครือข่ายที่ดี และสิ่งที่สำคัญมีความเข้าใจเรื่องหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นอย่างดี จึงมอบหมายให้เอ็มเทคเป็นที่ปรึกษาดำเนินโครงการ ผลการดำเนินงานของโครงการในปีแรก (พ.ศ. 2565) ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่กำหนด แม้ว่าบริษัทที่เข้าร่วมโครงการอาจไม่ตรงกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องการ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นได้เห็น ได้เข้าใจ และเป็นแบบอย่างให้กับผู้ประกอบการอื่น ๆ ได้ นอกจากนี้ยังได้รับการชื่นชมจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ส่งผลให้มีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมอีกหลายราย จึงนำไปสู่โครงการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 (พ.ศ. 2566)”

เมื่อถามถึงการคาดหวังของโครงการฯ สู่อุตสาหกรรมเป้าหมายในครั้งที่ 2 ดร.ธีรวุธ กล่าวว่า “เป้าหมายคือต้องการขยายผลโครงการไปสู่อุตสาหกรรมในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป เช่น แร่ โลหะ เป็นวัตถุดิบ รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้รับหรือมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากมาตรการการค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ จากกระแสโลกที่มุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนและการพัฒนาที่ยั่งยืน”

“เศรษฐกิจหมุนเวียนจะดำเนินการโดยองค์กรใดองค์กรหนึ่งไม่ได้ ต้องร่วมมือกันเป็นเครือข่าย สิ่งที่อยากฝากให้เอ็มเทคสานต่อและช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือ ผลงานที่ได้ดำเนินการในปีแรกเรื่องการหมุนเวียนถุงนมโรงเรียนแบบวงรอบปิด1* เพื่อคงคุณค่าของพลาสติกประเภท PE และเพิ่มความสามารถในการนำมารีไซเคิล (Recyclability) ด้วยเทคโนโลยี De-ink ซึ่งเอ็มเทคได้ร่วมพิสูจน์ความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีจนเกือบสมบูรณ์แล้ว เป็นสิ่งที่ควรดำเนินการต่อเพื่อก่อให้เกิดระบบการหมุนเวียนวัสดุอย่างยั่งยืน สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานของถุงนมโรงเรียนได้ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของเอ็มเทคที่เกินความคาดหวังได้สะท้อนความเป็นมืออาชีพของเอ็มเทค ถือเป็นหน่วยงานวิชาการชั้นนำด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีโลหะและวัสดุที่ตอบโจทย์โครงการของ กพร. ได้อย่างแท้จริง” ดร.ธีรวุธ กล่าวทิ้งท้าย

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
พวงพร พันธุมคุปต์ งานประสานธุรกิจและอุตสาหกรรม ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ

โทรศัพท์ 0 2564 6500 ต่อ 4784
อีเมล: puangpp@mtec.or.th
[1] https://www.mtec.or.th/research-projects/73591/