สหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา จำกัด

อนันต์ จันทร์รัตน์
ผู้จัดการ สหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา จำกัด
“น้ำยางข้นชนิดนี้มีประโยชน์มาก เนื่องจากลดเวลาบ่มจาก 21 วัน เหลือเพียง 3 วัน ทำให้สหกรณ์ฯ ไม่ต้องเก็บสต็อกน้ำยางช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินได้มาก ผลิตภัณฑ์ที่ได้ก็มีคุณภาพดี”
สหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา จำกัด ดำเนินกิจการโรงงานแปรรูปน้ำยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์หมอนและที่นอนแบบครบวงจร โดยรวบรวมน้ำยางสดจากสมาชิกมาแปรรูปเป็นน้ำยางข้น 60% จากนั้นจึงนำน้ำยางข้นมาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์โดยใช้เครื่องฉีด
คุณอนันต์ จันทร์รัตน์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา จำกัด เล่าถึงที่มาของการก่อตั้งสหกรณ์ฯ ว่า “ในปี 2558 ยางพารามีราคาตกต่ำมาก หน่วยงานภาครัฐต่างพยายามแก้ปัญหา แนวทางหนึ่งคือดำเนินโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางพารา มีการจัดตั้งโรงงานผลิตหมอนที่นอนยางพาราเพื่อสุขภาพ โดยสนับสนุนในรูปของเครื่องจักรสำหรับใช้แปรรูปน้ำยางสดเป็นผลิตภัณฑ์ยางพาราได้อย่างครบวงจร”
ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการแปรรูปน้ำยางพาราจากการไปดูงานในสถานที่ต่างๆ คุณอนันต์เล็งเห็นว่าการก่อตั้งโรงงานผลิตหมอนและที่นอนยางพาราจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มเกษตรกรชาวแพรกหา จึงได้รวบรวมสมาชิกเพื่อก่อตั้งสหกรณ์ฯ ในปี 2558 โดยได้รับจัดสรรงบประมาณยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยประจำปี 2558 ในการดำเนินการตามโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางพารากิจกรรมการจัดตั้งโรงงานการผลิตหมอนและที่นอนยางพาราเพื่อสุขภาพมูลค่าเครื่องจักร 34 ล้านบาท

คุณอนันต์เล่าว่า “ในปี 2559 เริ่มติดตั้งเครื่องมือบางส่วน โดยเริ่มจากเครื่องฉีดก่อน เมื่อติดตั้งเสร็จก็มีคนมาสอนวิธีการใช้เครื่องและขั้นตอนการทำหมอนยางพารา แต่สูตรที่ทำให้หมอนมีคุณภาพดีต้องมาปรับเองในภายหลัง”
“ต้นปี 2560 สหกรณ์ฯ เริ่มผลิตหมอนเพื่อจำหน่ายภายใต้แบรนด์ ‘ตะลุงลาเท็กซ์’ โดยซื้อน้ำยางข้นจากที่อื่น เพราะสหกรณ์ฯ ไม่มีความรู้ความชำนาญในการทำน้ำยางข้น อีกทั้งไม่มีประสบการณ์ในการใช้เครื่องจักรมาก่อน แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการศูนย์บ่มเพาะและพัฒนานวัตกรรม SMEs เกษตรของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จึงได้รู้จักผู้เชี่ยวชาญของเอ็มเทค ซึ่งต่อมาได้ถ่ายทอดขั้นตอนการทำและการตรวจสอบคุณภาพน้ำยางข้นให้แก่เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ฯ ทำให้สหกรณ์ฯ สามารถรับซื้อน้ำยางสดจากสมาชิกเพื่อนำมาผลิตน้ำยางข้นใช้เอง”

อย่างไรก็ดี การผลิตหมอนยางพาราที่มีคุณภาพดีไม่ใช่เรื่องง่าย คุณอนันต์เล่าถึงอุปสรรคว่า “แม้ในตอนนั้นสหกรณ์ฯ สามารถผลิตหมอนได้ แต่ทว่าคุณภาพยังไม่ดีนัก เพราะผมและเจ้าหน้าที่ไม่มีความรู้เชิงลึก พอเจอปัญหาก็ไม่สามารถแก้ไขได้ อาศัยแต่การลองผิดลองถูก”
“ราวปลายปี 2560 งานชุมชนและทีมวิจัยของเอ็มเทค มาขยายผลงานวิจัยโดยได้แนะนำเทคนิคต่างๆ ตั้งแต่การตรวจสอบคุณภาพน้ำยางข้น การทำคอมพาวด์ และการตรวจสอบสมบัติของคอมพาวด์ก่อนฉีดเข้าเครื่อง ทำให้เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ทำงานเป็นระบบมากขึ้น ส่งผลให้ของเสียลดลง นอกจากนี้ ยังนำเทคโนโลยีน้ำยางข้นชนิดแอมโมเนียต่ำมาก (ParaFIT) มาใช้ผลิตหมอนแทนน้ำยางข้นแบบเดิม น้ำยางข้นชนิดนี้มีประโยชน์มาก เนื่องจากลดเวลาบ่มจาก 21 วัน เหลือเพียง 3 วัน ทำให้สหกรณ์ฯ ไม่ต้องเก็บสต็อกน้ำยางช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินได้มาก ผลิตภัณฑ์ที่ได้ก็มีคุณภาพดี สังเกตได้จากสีและความเหนียวที่แตกต่างจากของเดิมอย่างชัดเจน ผลิตภัณฑ์หมอนและที่นอนยางพาราที่ผลิตจากน้ำยางข้นชนิดแอมโมเนียต่ำมากใช้ชื่อสินค้าว่า ‘หมอนและที่นอนเปี่ยมสุข’” คุณอนันต์กล่าว

สำหรับการทำตลาด คุณอนันต์เผยว่า “ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์หมอนและที่นอนยางพาราขายได้ เพราะลูกค้าเชื่อว่าสหกรณ์ฯ เป็นสถาบันเกษตรกรที่มีความซื่อสัตย์ อีกทั้งต้องการช่วยเหลือเกษตรกร แต่การทำตลาดที่แท้จริงก็ต้องพึ่งเทคโนโลยี เพื่อผลิตสินค้าให้มีคุณภาพสม่ำเสมอผ่านมาตรฐาน ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่ลูกค้ามากยิ่งขึ้น”
“ผมอยากให้ทีมวิจัยเอ็มเทคมาเป็นที่ปรึกษาอย่างเต็มรูปแบบ เพราะทีมวิจัยมีใจให้กัน ทำงานคลุกคลีเสมือนเป็นเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ฯ ให้คำแนะนำอย่างเต็มที่ ทำให้เราเกิดความเชื่อใจ และช่วยให้เรามีกำลังใจในการทำงานดีขึ้น ถ้าไม่มีทีมวิจัยเอ็มเทคก็ไม่รู้ว่าจะมาได้ถึงขนาดนี้หรือไม่” คุณอนันต์กล่าวทิ้งท้าย