สภาองค์กรของผู้บริโภค

“เมื่อผลที่ได้จากงานวิจัยนี้เผยแพร่สู่สาธารณะก็ย่อมเป็นประโยชน์ โดยสร้างผลกระทบในเรื่องความปลอดภัย ช่วยให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงการควบคุมคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน และสามารถส่งออกสินค้าที่มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น”

คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย
งานสื่อสารและขับเคลื่อนความรู้
ฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยีวัสดุ

สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ สภาผู้บริโภค เป็นองค์กรนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อเป็นผู้แทนของผู้บริโภค มีความเป็นอิสระ มีอำนาจหน้าที่คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน

คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค เล่าถึงที่มาของการทดสอบหมวกกันน็อกว่า “ความปลอดภัยด้านการขนส่งและยานพาหนะที่รวมเรื่องสินค้าและบริการคือ 1 ใน 8 ด้านที่สภาฯ ต้องทำหน้าที่คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค เพราะเรื่องความปลอดภัยเป็นสิทธิที่สำคัญของผู้บริโภค สภาฯ รับประกันความปลอดภัยมาตั้งแต่ปี 2522 แต่ปัจจุบันผู้บริโภคก็ยังไม่ปลอดภัย ทั้งในเรื่องการเดินทาง มาตรฐานของรถ หรืออาหาร ดังนั้น สภาฯ จึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ โดยเฉพาะอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต หมวกกันน็อกเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องปลอดภัย สภาฯ มีชุดข้อมูลหนึ่งว่า เด็กนักเรียนไม่สวมหมวกกันน็อก เพราะมีราคาแพงและกลัวหมวกหาย จึงเกิดคำถามว่า หมวกกันน็อกที่ปลอดภัยต้องมีราคาแพงจริงหรือ นี่เป็นที่มาของการทดสอบหมวกกันน็อก”

ส่วนที่มาของความร่วมมือกับเอ็มเทคนั้นสืบเนื่องมาจากการที่สภาฯ เคยร่วมงานกับทีมของ ดร.ศราวุธ (เลิศพลังสันติ) มาก่อนจึงทำให้ทราบว่าคุณเศรษฐลัทธ์ (แปงเครื่อง) และคณะวิจัยเอ็มเทค มีความเชี่ยวชาญด้านการทดสอบ สภาฯ จึงได้ร่วมมือกับเอ็มเทค ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้สุ่มตัวอย่างหมวกกันน็อกจากท้องตลาดมาทดสอบจำนวน 25 ตัวอย่าง

“ผลการทดสอบได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมาก เช่น เราพบว่าหมวกกันน็อกที่ปลอดภัยไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถซื้อหมวกกันน็อกแจกได้โดยใช้งบประมาณไม่สูงนัก หรือหมวกกันน็อกของเด็กเราก็พบว่าไม่มียี่ห้อใดได้มาตรฐาน ซึ่งประเด็นนี้น่าจะเป็นโจทย์ใหม่ที่จะต้องหาแนวทางแก้ไขเพื่อให้ได้หมวกที่มีมาตรฐาน บริษัทผู้ผลิตก็สนใจรับฟังผลการทดสอบโดยไม่มีข้อโต้แย้ง รวมถึงสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมก็หามาตรการจัดการกับหมวกกันน็อกที่ไม่ได้มาตรฐาน ตลอดจนดูแลอย่างเข้มข้นมากขึ้น เมื่อผลที่ได้จากงานวิจัยนี้เผยแพร่สู่สาธารณะก็ย่อมเป็นประโยชน์ โดยสร้างผลกระทบในเรื่องความปลอดภัย ช่วยให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงการควบคุมคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน และสามารถส่งออกสินค้าที่มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น” คุณสารี กล่าว

เมื่อสอบถามถึงความร่วมมือในอนาคต คุณสารี กล่าวว่า “ในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยที่ไม่สามารถตรวจสอบคุณภาพได้ด้วยตาเปล่าและต้องอาศัยการทดสอบ เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า รถไฟฟ้า ปลั๊กชาร์จไฟ เบรกเอบีเอสของรถจักรยานยนต์ รถติดแก๊ส รวมถึงสินค้าที่ได้จากการซื้อขายออนไลน์ สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่สภาฯ ต้องการให้เอ็มเทคช่วยสนับสนุนอย่างน้อยปีละ 2-3 รายการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2-3 ปี ทั้งนี้เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศ ช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีราคาถูกและได้มาตรฐาน อีกทั้งยังช่วยยกระดับสินค้าและบริการ ส่งเสริมภาคธุรกิจให้มีความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้

นอกจากนี้ กรมขนส่งทางบกยังมีแผนให้สภาฯ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระช่วยตรวจสอบความปลอดภัยของรถที่จุดตรวจ หากแผนงานนี้เกิดขึ้นจริงก็จะเป็นอีกเรื่องที่ต้องการความร่วมมือกับเอ็มเทคในอนาคต”

“อย่างไรก็ดี การทดสอบในลักษณะนี้ สภาฯ ต้องให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการ ลดข้อจำกัดเรื่องความไม่เสมอภาค จึงจำเป็นต้องสุ่มตัวอย่างตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ เช่น สุ่มตัวอย่างที่หลากหลาย ภายในระยะเวลาใกล้เคียงกัน และเป็นตัวแทนของตัวอย่าง การทำเช่นนี้ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ดังนั้นถ้าสภาฯ และเอ็มเทควางแผนงานร่วมกัน และต่างฝ่ายต่างหางบประมาณมาสนับสนุนก็น่าจะเป็นประโยชน์” คุณสารี เสนอทิ้งท้าย