“หากเปรียบ EEC เป็นไข่ทั้งฟอง เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation, EECi) ก็เปรียบได้กับไข่แดง”
ดร.ดำริ สุโขธนัง
ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
ปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา เอ็มเทคสร้างและส่งมอบผลงานที่ตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้ความเชี่ยวชาญในการดำเนินการวิจัยและพัฒนาตามทิศทางของแผนที่นำทางเทคโนโลยี (Technology Roadmap, TRM) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ปี 2560-2564 อีกทั้ง สวทช. ยังได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้มีส่วนร่วมในการจัดตั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation, EECi) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ไทยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เอ็มเทคควรใช้ศักยภาพที่มีอย่างไรเพื่อสร้างผลกระทบในเชิงบวกและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
ดร.ดำริ สุโขธนัง ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ผู้ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับเอ็มเทคมาอย่างยาวนานได้แสดงทรรศนะ รวมทั้งให้ข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานขององค์กรในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้
เอ็มเทคกำหนดบทบาทของตนเองได้เหมาะสมหรือไม่ หรือควรมีบทบาทในทิศทางใด
ดร.ดำริ แนะนำว่า “บทบาทของเอ็มเทคถูกกำหนดไว้แล้วตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์กร คือ การเป็นหน่วยวิจัยด้านโลหะและวัสดุของประเทศ จึงต้องยึดบทบาทนี้ให้มั่น ส่วนหน้าที่และแผนงานสามารถกำหนดเองได้ โดยบุคลากรต้องหารือร่วมกันเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วม ทั้งนี้ต้องระบุได้ว่าจะส่งมอบผลงานอะไรให้แก่สังคม ผลงานนี้ต้องสร้างผลกระทบให้มากขึ้น โดยนอกจากการส่งมอบผลงานในรูปบทความวิชาการ ต้นแบบ หรือสิทธิบัตรแล้ว ยังต้องมีวิธีการผลักดันให้มีผู้นำผลงานไปใช้ต่อได้ ซึ่งเป็นงานที่ยาก”
“เอ็มเทคมีบริการวิเคราะห์ทดสอบ ซึ่งเป็นการให้บริการทางเทคโนโลยีวัสดุ ถ้าสามารถสร้างให้เป็นจุดแข็งขึ้นมาก็จะสามารถใช้เป็นหน้าต่างเพื่อรับรู้ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้ และใช้ความต้องการนี้เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนา รัฐบาลต้องการเห็นแนวโน้มของงานวิจัยเกิดผลกระทบสูง ดังนั้น ถ้าเอ็มเทคกำหนดบทบาทตัวเองให้สอดคล้องกับทิศทางนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมของประเทศก็จะทำให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน” ดร.ดำริกล่าวเสริม
“อีกบทบาทที่สำคัญไม่แพ้กันคือ เอ็มเทคต้องสามารถสร้างความรู้และความเข้าใจในเรื่องของวัสดุให้แก่คนในประเทศ เพราะถือว่าเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่องคาพยพ แต่เนื่องจากวัสดุมีความหลากหลายมาก เอ็มเทคก็ต้องคิดว่าควรจะมุ่งไปที่เรื่องใดและชูให้ชัดเจน”
“จุดแข็งของเอ็มเทคคือ มีนักเรียนทุนจำนวนมาก มีองค์ความรู้ และมีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ผมจึงอยากเห็นเอ็มเทคทำตามบทบาทหน้าที่ของตัวเอง และส่งมอบผลงานออกมาอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะทำให้คนข้างนอกองค์กรเห็นผลงานและรู้จักเอ็มเทคมากขึ้น เกิดประโยชน์ในแง่ความภูมิใจที่มีผลตอบรับจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากผลงานของเรา”
ทิศทางนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ
1) วิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่มาจากอุปสงค์ (demand side) เพื่อตอบโจทย์ประเทศ สังคม และเอกชน
2) วิจัยเรื่องใหญ่และชัดเจนเพื่อบูรณาการในองค์รวม
3) สร้างความเชี่ยวชาญในบางเรื่องที่สำคัญ
4) เน้นการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม
5) สร้างเครือข่ายการพัฒนานวัตกรรมและการวิจัยอย่างเป็นระบบ
ที่มา: เอกสารการประชุมของสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวนช.)
เรื่อง (ร่าง) ยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงการขับเคลื่อน Thailand 4.0 เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2560
สวทช. ได้รับมอบหมายให้มีส่วนร่วมในการจัดตั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรในประเด็นนี้
ดร.ดำริกล่าวว่า “ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor, EEC) เป็นการเตรียมความพร้อมเรื่องสถานที่ ระบบขนส่ง เมืองใหม่ และแรงจูงใจสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ อุปกรณ์อัตโนมัติและหุ่นยนต์ อากาศยาน ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมอาหาร ดิจิทัล เป็นต้น โดยหวังจะให้อุตสาหกรรมเหล่านี้ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เพื่อประเทศไทยจะได้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง”
“หากเปรียบ EEC เป็นไข่ทั้งฟอง เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation, EECi) ก็เปรียบได้กับไข่แดง ไข่แดงเป็นจุดดึงดูดที่ช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะมาลงทุนหรือไม่ ดังนั้น บทบาทของ EECi คือต้องสร้างความเชื่อมโยงและสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่สมบูรณ์ สวทช. ต้องวิเคราะห์ว่า EECi ควรมีห้องปฏิบัติการด้านไหน มีองค์ความรู้อะไร ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาที่คอยให้คำปรึกษาสังกัดหน่วยงานใด หรือแม้แต่ฐานข้อมูลคนที่จะเข้าไปทำงานในอุตสาหกรรม สิ่งเหล่านี้จะใช้สนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ได้”
อุตสาหกรรมไทยควรปรับตัวให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรม 4.0 หรือไม่ และอุตสาหกรรมใดที่สามารถเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้เร็วกว่าอุตสาหกรรมอื่น
ดร.ดำริแสดงทรรศนะในประเด็นนี้ว่า “การจะเข้าอุตสาหกรรม 4.0 หรือไม่ อุตสาหกรรมต้องพิจารณาถึงความมีประสิทธิผลของต้นทุน (cost effectiveness) ปริมาณที่ผลิต คู่แข่ง และลักษณะของสินค้า หากเป็นสินค้าที่ขายเฉพาะกลุ่ม (niche market) ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าอุตสาหกรรม 4.0 เต็ม 100% ผมคิดว่าอุตสาหกรรมที่มีการผลิตจำนวนมาก มีตลาดใหญ่จำเป็นต้องเข้าอุตสาหกรรม 4.0 เพราะต้องแข่งขันกับโลก แนวโน้มของอุตสาหกรรมโลกมีทิศทางไปใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรม มีการนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) มาใช้ และระบบการผลิตทุกอย่างเป็นระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมที่ไม่ปรับตัวตามอาจไม่สามารถอยู่รอดได้”
เรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure, NQI) ประเทศไทยควรมีการดำเนินการในเรื่องใด
ดร.ดำริ อธิบายว่า โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ ประกอบด้วย
1) การมาตรฐาน (Standardization) คือ การกำหนดกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับในแต่ละเรื่อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
– สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานที่ตรงความต้องการและสอดคล้องกับแนวทางสากล กำกับดูแลผลิตภัณฑ์ และการตรวจสอบและรับรองด้านการมาตรฐานให้ได้รับการยอมรับ รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาด้านการมาตรฐานของประเทศ
– สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พัฒนาและจัดทำมาตรฐานหลักเกณฑ์กฎระเบียบและมาตรการที่เกี่ยวกับการควบคุมกำกับดูแลคุณภาพมาตรฐาน และความปลอดภัยของอาหารเทียบเท่ามาตรฐานสากล
– สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป และอาหาร ตั้งแต่ระดับไร่นาจนถึงผู้บริโภค
2) การทดสอบ (Testing) คือ การตรวจสอบ/ทดสอบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ว่าเป็นไปตามที่ได้กำหนดไว้หรือไม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
– สถาบันยานยนต์ ให้บริการตรวจสอบ/ทดสอบผลิตภัณฑ์ ทั้งทดสอบทั่วไปและทดสอบตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
– ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ให้บริการทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการจำหน่ายในประเทศ นำเข้าและส่งออก ตามมาตรฐานระดับประเทศและมาตรฐานสากล รวมถึงสอบเทียบเครื่องมือวัดในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
– กรมวิทยาศาสตร์บริการ ให้บริการตรวจสอบและรับรองสินค้าและบริการตามมาตรฐานสากล
– กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขในฐานะห้องปฏิบัติการอ้างอิง
3) มาตรวิทยา (Metrology) คือ กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับงานมาตรฐานการวัดและการสอบเทียบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
– สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) มีหน้าที่พัฒนามาตรฐานการวัดแห่งชาติให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และถ่ายทอดความถูกต้องด้านการวัดสู่กิจกรรมการวัดต่างๆ ในประเทศ
4) การบริหารงานคุณภาพ (Quality Management) ครอบคลุมการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการ (laboratory accreditation) และการรับรองระบบและผลิตภัณฑ์ (system & product certification) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
“ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพครบ แต่ยังขาดความร่วมมือระหว่างกัน จึงมีการเสนอให้หน่วยงานเหล่านี้ทำงานร่วมกัน โดยใช้หลัก 3 M ได้แก่ 1) Mutual Interest คือ มีความสนใจร่วมกัน 2) Mutual Benefit คือ มีผลประโยชน์ร่วมกัน 3) Mutual Respect คือ มีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน”
“ตัวอย่างการทำงานร่วมกันที่เห็นเป็นรูปธรรม ได้แก่ การให้บริการด้านทดสอบ/สอบเทียบแบบเบ็ดเสร็จของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (MOST (Ministry of Science and Technology) One Stop Service) เนื่องจากกระทรวงวิทยาศาสตร์มีหลายหน่วยงานที่มีห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบ เช่น กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยา และ สวทช. เมื่อหน่วยงานในกระทรวงมาทำงานร่วมกัน มีเป้าหมายเดียวกัน มีผลประโยชน์ร่วมกัน ก็เป็นจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจ การมาทำงานร่วมกันยังทำให้เห็นการทำงานของคนอื่นและมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ผู้มารับบริการก็สามารถหาข้อมูลจากเว็บไซต์เดียว (onestop.most.go.th) ซึ่งสะดวกรวดเร็วส่งผลให้เกิดความพึงพอใจในการรับบริการ” ดร.ดำริกล่าว
“TOP FORM” ปรัชญาในการทำงานที่ ดร.ดำริ ฝากถึงพนักงานเอ็มเทค
T คือ Trust ไว้เนื้อเชื่อใจกัน
O คือ Openness เปิดเผย ตรงไปตรงมา
P คือ Positive thinking คิดบวก
F คือ Forgiveness & Friendship รู้จักให้อภัยและมีความเป็นมิตร
O คือ Occasional adjustment ปรึกษาหารือ ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน
R คือ Recognition ยอมรับนับถือซึ่งกันและกัน
M คือ Motive mind set มีทัศนคติที่ดี
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ วารสารเทคโนโลยีวัสดุ ฉบับที่ 87