สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีภารกิจในการเสนอแนะนโยบายและแผนการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนการจัดการเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนติดตามตรวจสอบ มาตรการเงื่อนไข ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจของประเทศ และสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนและคุณภาพชีวิตที่ดี
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับมอบหมายให้ขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 4 เป้าหมาย จากทั้งหมด 17 เป้าหมายตามที่องค์การสหประชาชาติกำหนด ได้แก่ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 12, 13, 14 และ 15 โดย สผ. ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานรับผิดชอบขับเคลื่อนการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 12 สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (SDG 12: Ensure sustainable consumption and production patterns) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 13 ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น (SDG13: Take urgent action to combat climate change and its impacts)
โดยมุ่งหวังให้เป็นระบบที่สามารถรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
และประมวลผลรายตัวชี้วัด SDG12 เช่น
กรณีของการบริโภควัสดุพื้นฐานในประเทศ
(Domestic Material Consumption: DMC)
ต้องใช้ข้อมูลจากหน่วยงานกว่า 10 แห่ง
ซึ่งข้อมูลต่างๆ จะสามารถสะท้อนแนวโน้ม
หรือความก้าวหน้าในการดำเนินงานของประเทศไทย
คุณนารีรัตน์ พันธุ์มณี ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน เล่าว่า “สำหรับ SDG12 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่มีความคาบเกี่ยวกับหลายๆ เป้าหมาย ตั้งแต่เป้าหมายการขจัดความยากจน ขจัดความหิวโหยความมั่นคงทางอาหาร ความเป็นอยู่ที่ดี การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดี การอนุรักษ์พลังงาน สผ. ได้ศึกษาและติดตามการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อให้ทราบถึงสถานะความก้าวหน้าการดำเนินงานที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ช่องว่างในการดำเนินงานของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมาย และนำมาพิจารณาจัดทำแผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2560–2580 ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการดำเนินการด้านการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน”
“ขณะที่ สผ. ดำเนินการจัดทำแผนขับเคลื่อนฯ ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับ รศ.ดร. ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ1 จึงได้ทราบว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) มีทีมวิจัยที่ศึกษาระเบียบวิธีและตัวชี้วัด SDG12 ดังนั้น สผ. จึงร่วมกับ MTEC จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 12 (สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน) และพัฒนาระบบติดตามประเมินผลการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนของประเทศไทย โดยมุ่งหวังให้เป็นระบบที่สามารถรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประมวลผลรายตัวชี้วัด SDG12 เช่น กรณีของการบริโภควัสดุพื้นฐานในประเทศ (Domestic Material Consumption: DMC) ต้องใช้ข้อมูลจากหน่วยงานกว่า 10 แห่ง ซึ่งข้อมูลต่างๆ จะสามารถสะท้อนแนวโน้มหรือความก้าวหน้าในการดำเนินงานของประเทศไทย และถูกนำมาประกอบการพิจารณาเพื่อสนับสนุนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องได้ นอกจากนี้ จากข้อมูลดังกล่าวทำให้ประเทศไทยสามารถนำผลการดำเนินงานไปประกอบการจัดทำรายงาน Voluntary National Review (VNR) เพื่อเสนอต่อนานาประเทศได้อีกด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่มีต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”
การทำงานร่วมกันจึงมีความรวดเร็ว คล่องตัว และมีความยืดหยุ่นสูง
สามารถแลกเปลี่ยนแนวคิด มุมมอง การคาดการณ์ต่างๆ ทั้งในเชิงวิชาการ
และหารือแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้อง
เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยในเวลาที่เร่งด่วนได้
เมื่อถามถึงกระบวนการทำงานและการพัฒนาระบบฯ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กล่าวว่า “ทีมวิจัยเอ็มเทคได้ติดตามความเคลื่อนไหวของการกำหนดระเบียบวิธี ตัวชี้วัด SDG12 รวมถึงข้อมูลอภิพันธุ์ (metadata) และลงลึกเป็นรายประเด็น ในการทำงานร่วมกันจึงมีความรวดเร็ว คล่องตัว และมีความยืดหยุ่นสูง สามารถแลกเปลี่ยนแนวคิด มุมมอง การคาดการณ์ต่างๆ ทั้งในเชิงวิชาการ และหารือแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยในเวลาที่เร่งด่วนได้ สำหรับการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะการดำเนินงานและข้อมูลที่จำเป็นต่อการจัดทำตัวชี้วัด SDG12 นั้น มีทั้งการประสานอย่างไม่เป็นทางการและอย่างเป็นทางการ ผ่านหนังสือราชการ การจัดเวทีหรือการจัดประชุมหารือเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงประกอบการดำเนินงาน รวมถึงการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรระหว่างประเทศมาให้ความรู้และแนวทางการดำเนินงานอีกด้วย”
ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กล่าวทิ้งท้ายว่า “ปัจจุบันมีประเด็นที่มีความเชื่อมโยงกับ SDG เป็นจำนวนมาก ครอบคลุมหลากหลายมิติ โดยเฉพาะด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีการนำดัชนี (Index) หรือตัวชี้วัดต่าง ๆ มาใช้จัดลำดับของประเทศ เช่น Environmental Performance Index (EPI) หาก MTEC สามารถพัฒนานักวิจัยทั้งด้านองค์ความรู้ และจำนวน จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กลไกคณะกรรมการบริหารสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในการพิจารณาอนุมัติโครงการ ยังช่วยพัฒนาข้อเสนอโครงการให้มีความสมบูรณ์ เกิดประโยชน์ และคุ้มค่าในการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะใช้งบประมาณของหน่วยงานใดในการดำเนินงานก็ตาม”