ที่มา
ทุเรียนเป็นผลไม้เศรษฐกิจของประเทศที่ปัจจุบันนิยมปลูกเพิ่มมากขึ้น ในช่วง 5 เดือนของปี 2564 ทุเรียนมีมูลค่าการส่งออกสูงสุดที่ 58.344 พันล้านบาท สร้างรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นอันดับ 2 รองจากยางพารา ปัญหาที่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนพบในการดูแลผลิตผลทุเรียนที่อยู่ในระยะการพัฒนาผลตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงการเก็บเกี่ยวคือ การเข้าทำลายของสัตว์และแมลงศัตรูพืชหลายชนิด ซึ่งทำให้ผลผลิตเสียหาย และราคาตกต่ำ
วิธีที่ชาวสวนนิยมปฏิบัติคือการใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดสัตว์และแมลงศัตรูพืช หากมีการระบาดรุนแรงอาจจำเป็นต้องฉีดพ่นสารเคมีสัปดาห์ละครั้งหรืออาจทุก 10 วัน สารเคมีเหล่านั้นก่อให้เกิดสารพิษตกค้างทั้งในผลผลิต ผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ส่งผลถึงการส่งออกที่มีมาตรฐานกำหนดเรื่องปริมาณสารพิษตกค้าง อีกทั้งยังสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตทุเรียนของชาวสวนเพิ่มขึ้น
จากปัญหาดังกล่าว ทีมวิจัยสิ่งทอ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ได้พัฒนาวัสดุนอนวูฟเวนจากสูตรพอลิเมอร์คอมพาวด์และการขึ้นรูปนอนวูฟเวนที่เหมาะสม เพื่อนำมาตัดเย็บเป็นถุงห่อทุเรียน และนำไปทดสอบในพื้นที่สวนของเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งให้แนวโน้มผลลัพธ์ที่ดี ช่วยลดการใช้สารเคมี ทุเรียนมีผิวสะอาด ผลทุเรียนที่ได้มีน้ำหนักสูงกว่าผลที่ไม่ได้ห่อผล และมีแนวโน้มปริมาณสัดส่วนของเนื้อทุเรียนเพิ่มขึ้น
เป้าหมาย
- ลดการใช้สารเคมีในสวนทุเรียนโดยใช้ถุงห่อผล รวมถึงส่งต่อความรู้ให้กับเครือข่ายกลุ่มเกษตรกร แกนนำ และผู้สนใจ
- เกิดความร่วมมือระหว่างเครือข่ายเกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ในการขยายผลองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน
ทีมวิจัยทำอย่างไร
ทีมวิจัยเอ็มเทคออกแบบลักษณะโครงสร้างและสูตรการผลิตวัสดุนอนวูฟเวนให้มีความแข็งแรง อากาศและน้ำสามารถผ่านเข้าออกได้ และมีการคัดเลือกช่วงแสงที่เหมาะสม โดยร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังทดสอบภาคสนามตั้งแต่ปี 2562 เก็บข้อมูลผลผลิต และในปี 2565 ได้ร่วมกับพันธมิตร เช่น สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) เขตนวัตกรรมระเบียง เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) และสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร ตราด จันทบุรี ปราจีนบุรี อบรมให้ความรู้เรื่องการใช้ถุงห่อทุเรียนแก่เกษตรกร ทั้งลงพื้นที่ (on-site) และอบรมออนไลน์ (online) โดยมีเกษตรกรที่สนใจเข้ารับฟังเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ได้แจกถุงห่อทุเรียน Magik Growth ให้เกษตรกรใช้งานเพื่อสร้างการรับรู้และตระหนักถึงการป้องกันผลผลิตโดยลดการใช้สารเคมี เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจไทย และประชาชนมีรายได้มากขึ้น สอดคล้องกับวาระแห่งชาติ โมเดลเศรษฐกิิจ BCG model (Bio-Circular-Green Economy)
ผลวิจัย
ถุงห่อทุเรียนนอนวูฟเวนมีความคงทนต่อสภาวะการใช้งาน สามารถใช้ได้ 3 รอบการเก็บเกี่ยว ช่วยให้เปลือกทุเรียนบางลง 20-30% น้ำหนักผลสูงขึ้น 10-15% ป้องกันหนอน กระรอก กระแต เจาะผล และลดเพลี้ยแป้ง ราดำได้ ทำให้ลดการใช้สารเคมีตั้งแต่เริ่มห่อถึงเก็บเกี่ยว (2 เดือน) นอกจากนั้น เกษตรกรยังสามารถขายผลผลิตทุเรียนที่ห่อถุงได้ในราคาสูงกว่าราคาตลาด 10-30%
สถานภาพการวิจัย
ผลงานวิจัยนี้ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้บริษัท สาลี่ คัลเล่อร์ จำกัด (มหาชน) และมีการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ให้แก่ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเกษตรกรทั่วไปตั้งแต่ไตรมาส 1/2565
แผนงานวิจัยในอนาคต
- ออกแบบถุงห่อให้สามารถทนทานต่อแรงลม และอุปกรณ์สำหรับช่วยห่อในที่สูง
- ทดลองห่อผลไม้เศรษฐกิจชนิดอื่น เช่น อินทผาลัม
รายชื่อทีมวิจัย
ดร.ณัฐภพ สุวรรณเมฆ, ดร.จุรีรัตน์ ประสาร, วัฒนา กลิ่นสุคนธ์, ศิรดา ภาดี และประภัสสร วันนิจ
ติดต่อ
ดร.ณัฐภพ สุวรรณเมฆ (นักวิจัย)
ทีมวิจัยสิ่งทอ
กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง
โทรศัพท์ 02 564 6500 ต่อ 4464, 4727
อีเมล natthaps@mtec.or.th