352 Views

นายจุลเทพ ขจรไชยกูล


ผู้อํานวยการ
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

ในปัจจุบันการแข่งขันในเชิงพาณิชย์มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่ได้เป็นเพียงแค่การช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดเท่านั้น แต่รุนแรงถึงขั้นทำลายตลาดเดิมและสร้างตลาดใหม่ขึ้นมาแทนที่ด้วยวิธีการสร้างสรรค์รูปแบบธุรกิจใหม่ (new business models) ที่เข้าใจและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดีกว่า ความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการเข้าถึงและใช้ข้อมูลอย่างชาญฉลาดจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการกำหนดโจทย์วิจัยและพัฒนาที่ดี เอ็มเทคได้ให้ความสำคัญกับการสร้าง จัดเก็บ วิเคราะห์ และใช้ประโยชน์ข้อมูลข่าวสารต่างๆ เพื่อกำหนดทิศทางบริหารจัดการงาน และสื่อสารเพื่อให้สังคมตระหนักและเข้าใจอย่างถูกต้องในประเด็นสำคัญต่างๆ โดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่พิสูจน์ได้ในทางวิทยาศาสตร์

งานวิจัยของเอ็มเทคจำแนกเป็นสองกลุ่มหลัก กลุ่มแรกเป็นงานวิจัยเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับในอนาคต มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้พื้นฐานที่มีความก้าวหน้าทันสมัยรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ตัวอย่างเช่น Exoskeletons และ Metal Additive Manufacturing เป็นต้น กลุ่มที่สองเป็นงานวิจัยที่มุ่งเน้นนำผลงานไปใช้ประโยชน์ในระยะเวลาอันใกล้ งานกลุ่มนี้เป็นผลมาจากองค์ความรู้จากการวิจัยและขีดความสามารถทางเทคโนโลยีที่ได้มาจากงานวิจัยกลุ่มแรกในระยะก่อนหน้านี้

ในการกำหนดโจทย์วิจัยจะมีการหารือกับกลุ่มเป้าหมายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด รวมถึงวิเคราะห์บริบทสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดทิศทางการทำวิจัยและแนวทางการขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการ อีกทั้งยังมีการเสาะหาพันธมิตรเพื่อร่วมดำเนินการไปด้วยกันจนสุดทาง

ตัวอย่างผลงานวิจัยของเอ็มเทคที่มีการนำไปใช้ประโยชน์จริง เกิดการสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ULA Latex for Para AC การศึกษาและพัฒนาการใช้งาน FPA300 ในอุตสาหกรรมพลาสติก และระบบทำความสะอาดเถ้าสะสมผนังเตาด้วยระบบฉีดน้ำแรงดันสูง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งแต่การกำหนดโจทย์และเป้าหมายการพัฒนาที่เหมาะสม การวิจัยพัฒนาทั้งในส่วนผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต การวิเคราะห์ทดสอบ เพื่อส่งมอบเทคโนโลยีให้สอดรับกับความพร้อมของผู้รับผลงานไปใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ ผลงานวิจัยจะขยายผลการใช้ประโยชน์ไปสู่วงกว้างได้มากน้อยเพียงใดยังขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ในการสร้างตลาดและกิจกรรมในเชิงธุรกิจอีกด้วย
เอ็มเทคให้ความสำคัญกับการพัฒนาโจทย์วิจัยร่วมกับพันธมิตรผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยพิจารณาบริบทที่ครบถ้วนในทุกมิติตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตจนถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ และการกำจัดหรือทำลายภายหลังการใช้งานที่ไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และการวางแผนขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยให้ได้รับความเชื่อมั่นและการยอมรับในวงกว้าง เช่น การจัดทำมาตรฐานรองรับผลิตภัณฑ์ใหม่ ทั้งในระดับประเทศและสากล การมีส่วนร่วมผลักดันให้เกิดมาตรการหรือนโยบายที่เป็นประโยชน์กับส่วนรวมโดยอาศัยข้อมูลสนับสนุนซึ่งเป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากการวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยีวัสดุ