เปลยกเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบตะกร้าในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน

652 Views

> ต้นแบบสาธาณประโยชน์​

ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดอุปกรณ์ที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่เหมาะสมทั้งในด้านการใช้งาน ความแข็งแรง และความมีมาตรฐาน สำหรับให้ทีมผู้ปฏิบัติงานกู้ภัยและหน่วยกู้ชีพที่มีทักษะใช้ช่วยเหลือและเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่พิเศษที่เข้าถึงยากลำบากและต้องดำเนินการด้วยความเร่งด่วน

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ จึงร่วมกันพัฒนานวัตกรรมเปลยกเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบตะกร้า (basket stretcher) ที่สามารถใช้งานได้ทั้งทางบก (รถยนต์) ทางน้ำ (เรือ) และทางอากาศ (เฮลิคอปเตอร์) โดยออกแบบให้มีน้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายง่าย ทำจากวัสดุที่ทนทาน มีความแข็งแรงสอดคล้องกับข้อกำหนดตามมาตรฐานสากล สามารถรองรับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักมากได้ และสามารถผลิตได้จริงด้วยต้นทุนที่ผู้ผลิตรายย่อยในประเทศไทยสามารถเข้าถึงได้ในวงกว้าง

ทีมวิจัยใช้กระบวนการออกแบบที่เรียกว่า Human-centric design โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานตามลำดับดังนี้

  1. สังเกตการณ์และทำความเข้าใจผู้ใช้ (observation) ด้วยการลงพื้นที่เก็บข้อมูล สังเกตการณ์ สัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติการฉุกเฉิน และรวบรวมประเด็นปัญหาที่พบ เพื่อนำมาพิจารณาเป็นข้อกำหนดในการออกแบบ
  2. รวบรวมแนวคิดในการแก้ไขปัญหา (ideation) ด้วยการระดมสมองเพื่อหาแนวคิดในการแก้ไขปัญหา
  3. ออกแบบและสร้างต้นแบบ (prototyping) ด้วยการใช้ระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ อ้างอิงมาตรฐาน NFPA 1983 เพื่อออกแบบและวิเคราะห์ความแข็งแรง จากนั้นจึงสร้างต้นแบบ
  4. พิสูจน์ความถูกต้องของการออกแบบ (validation) ด้วยการทดสอบความแข็งแรงตามมาตรฐาน และการทดสอบการใช้งานจริงโดยตัวแทนทีมกู้ภัย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้เป้าหมาย และนำผลตอบรับที่ได้มาปรับปรุง ภายใต้ขอบเขตของระยะเวลาและงบประมาณที่กำหนด

ทีมวิจัยได้ดำเนินกิจกรรมทั้ง 4 ขั้นตอนเป็นวงจรทั้งหมด 5 รอบ จนได้ต้นแบบที่ตอบโจทย์ข้อกำหนดในการออกแบบ จากนั้นจึงทดสอบต้นแบบทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและระดับภาคสนามในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยดำเนินการร่วมกับตัวแทนผู้ใช้ ได้แก่ อาสาสมัครกู้ภัยจำนวน 4 หน่วยงาน

จากการวิเคราะห์และการทดสอบภาคสนามสรุปได้ว่า ต้นแบบเปลยกเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบตะกร้ามีความเหมาะสมในด้านการใช้งาน มีน้ำหนักที่เบาเทียบเท่ากับเปลที่มีใช้ในต่างประเทศ มีความแข็งแรงสอดคล้องกับข้อกำหนดในมาตรฐาน NFPA 1983 และเหมาะสมสำหรับการปฏิบัติงานในพื้นที่พิเศษ นอกจากนี้ หูยึดเปลฯ ยังใช้งานได้สะดวกกับระบบเชือก ทุ่นลอยน้ำ รวมถึงชุดโครงฐานล้อแบบถอดแยกได้ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ทำงานยากลำบาก

ต้นแบบเปลฯ มีความเหมาะสมทั้งในเรื่องวัสดุ วิธีการผลิต และต้นทุนที่คาดการณ์ไว้ว่าจะต่ำกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศถึง 60% ทำให้ผู้ผลิตรายย่อยในประเทศสามารถลงทุนผลิต และนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างยั่งยืน ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาคุณภาพระบบการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ

ต้นแบบนี้ได้ถูกถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงสาธารณประโยชน์ให้แก่ผู้ผลิตหรือช่างเชื่อมรายย่อย เพื่อดำเนินการผลิต และตรวจสอบรอยเชื่อมเบื้องต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้นำต้นแบบเปลฯ ดังกล่าวไปใช้ปฏิบัติหน้าที่และฝึกอบรมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 และได้มีการขยายผลการนำไปใช้เพิ่มอีก 10 ต้นแบบตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 ถึงปัจจุบัน

ทีมวิจัย

ดร. ศราวุธ เลิศพลังสันติ และทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม