1,043 Views

เอ็มเทค ดำเนินงานตามพันธกิจในทิศทางที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกับแผนกลยุทธ์ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ฉบับที่ 6 (ปีงบประมาณ 2560-2564) ซึ่งเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนงานระดับประเทศ มีวัตถุประสงค์หลักในการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างผลงานที่ตอบสนองความต้องการของภาคส่วนต่างๆ และการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขบรรเทาปัญหาหรือพัฒนากิจการ อันจะก่อให้เกิดผลกระทบที่มีนัยสำคัญเชิงเศรษฐกิจและสังคม

งานวิจัยของเอ็มเทค ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาเทคโนโลยีฐานด้านเทคโนโลยีวัสดุ เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และขีดความสามารถ ให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต การสร้างองค์ความรู้ใหม่จากหลายศาสตร์ ตลอดจนการวิจัยเพื่อตอบโจทย์สำคัญของประเทศ

กลไกการดำเนินงาน

จากแนวทางการทำงานของเอ็มเทค นำไปสู่การพัฒนากลไกการทำงานอย่างเป็นระบบ โดยการจัดทำแผนการพัฒนาเทคโนโลยี งานวิจัย และการส่งมอบ (Technology/Research S-curves) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการบริหารงานวิจัย การจัดสรรทรัพยากร และการวางแผนการทำงาน ทั้งส่วนงานวิจัยและงานสนับสนุนต่างๆ อาทิ การสร้างพันธมิตรร่วมวิจัย/ทดสอบ การถ่ายเทคโนโลยี การเผยแพร่ข้อมูลและสร้างความตระหนัก ซึ่งจะนำไปสู่การเชื่อมโยงการทำงานตั้งแต่ การพัฒนาเทคโนโลยีฐานด้านเทคโนโลยีวัสดุ เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และขีดความสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี รวมถึงตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ การส่งมอบผลผลิต (Output) เป็นผลงานเชิงวิชาการประกอบด้วย บทความ ต้นแบบ และทรัพย์สินทางปัญญา ต่อยอดไปสู่ผลลัพธ์ (Outcome) คือ การใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งในเชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์ ผ่านกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยี การรับจ้างวิจัย การร่วมวิจัย อันนำไปสู่การสร้างผลกระทบ (Impact) และการลงทุน (Invest) ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม

แผนภาพแสดงการทำงานอย่างเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดการส่งมอบผลงานที่มีความร้อยเรียงในมิติ
Output-Outcome-Impact (O-O-I coherence)

กลุ่มเป้าหมายการใช้ประโยชน์

เอ็มเทคกำหนดกลุ่มเป้าหมายการใช้ประโยชน์จากผลผลิตงานวิจัย เป็น 5 กลุ่มหลัก ได้แก่
1. อุตสาหกรรมการผลิตและบริการทางวิศวกรรม
2. ความปลอดภัยและคุณภาพชีวิต
3. สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
4. อุตสาหกรรมฐานเกษตรกรรม
5. เกษตรกรรม

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเทคโนโลยเป้าหมายอีก 1 กลุ่ม คือ พลังงาน

กลไกการนำองค์ความรู้ และผลงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ให้เกิดประโยชน์

เอ็มเทค เล็งเห็นความสำคัญของการนำองค์ความรู้ และผลงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อ อุตสาหกรรม สังคม ชุมชน จึงส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน อย่างใกล้ชิด การให้บริการต่างๆ เน้นความคล่องตัวและการสร้างความเชื่อมโยง เพื่อให้สามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ และตอบสนองความต้องการได้อย่างแท้จริง โดยให้บริการด้านวิจัยและพัฒนาในรูปแบบต่างๆ เช่น การบริการรับจ้างวิจัย ร่วมวิจัยและพัฒนา ที่ปรึกษา และถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกับสำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (ทีแอลโอ) ของสวทช. รวมถึงการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีผ่านการฝึกอบรม เพื่อให้เกิดการนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ประโยชน์ได้จริงและมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เอ็มเทคกำหนดกลุ่มเป้าหมายการใช้ประโยชน์จากผลผลิตงานวิจัย เป็น 5 กลุ่มหลัก ได้แก่

อุตสาหกรรมการผลิตและบริการทางวิศวกรรม

การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค โดยใช้ความสามารถด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นรูปวัสดุ โดยเฉพาะโลหะและโพลิเมอร์ รวมถึงการมุ่งเน้นวิจัยและพัฒนาด้านวิศวกรรมของอุตสาหกรรมการผลิต ตั้งแต่การออกแบบทางวิศวกรรม กระบวนการขึ้นรูปวัสดุ การผลิตแบบเพิ่มเนื้อวัสดุ การเชื่อมประสานวัสดุต่างชนิดกัน การวิเคราะห์ชิ้นส่วนองค์ประกอบต่างๆ ในโครงสร้าง การวิเคราะห์พลศาสตร์ของไหล การพัฒนาระบบอัตโนมัติ

1. Lightweight Engineering

การวิจัย พัฒนา และประยุกต์ใช้องค์ความรู้ และเทคโนโลยีด้านการออกแบบวัสดุน้ำหนักเบา สำหรับโครงสร้างที่ซับซ้อน (การประเมินความแข็งแรง) การจำลองเชิงคำนวณ การหล่อควบคุมโครงสร้างจุลภาค โลหะวิทยา การสร้างแบบจำลองอะตอม เพื่อให้ได้วัสดุที่มีลักษณะและสมบัติที่เหมาะสมตามความต้องการใช้งาน

2. Processing of Engineering Plastics

การพัฒนาการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกที่มีความซับซ้อนและคุณสมบัติหลากหลาย เพื่อเพิ่มมูลค่าการผลิตในระดับอุตสาหกรรม 

3. Compounding of Engineering Rubber

การออกแบบสูตรยางให้มีสมบัติเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ที่จะนำไปใช้ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยียางและยางล้อมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางเพื่อใช้ในเชิงวิศวกรรมสำหรับอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ทางการทหาร  

4. Automated System for Manufacturing and Plant Maintenance

การพัฒนาระบบอัตโนมัติที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคการผลิตและบริการของประเทศ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน เสริมสร้างความมั่นคงผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็นและเฉพาะเจาะจง

5. Additive Manufacturing

การสร้างองค์ความรู้เทคโนโลยีการผลิตแบบเพิ่มเนื้อวัสดุ เพื่อขึ้นรูปผลิตภัณฑ์โลหะ และโพลิเมอร์ที่มีรูปร่างซับซ้อนเกินกว่าศักยภาพของกระบวนการขึ้นรูปแบบดั้งเดิม โดยเชื่อมโยงองค์ความรู้ทางด้าน วัสดุศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์และพัฒนากลไกการขึ้นรูปที่ส่งผลต่อสมบัติด้านต่างๆ

ผลงานเด่น
  • งานวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ กฟผ. (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โรงไฟฟ้าแม่เมาะ)
  • การพัฒนายางล้อตันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (บริษัท สยามไพโอเนียร์รับเบอร์ จำกัด)
  • การให้คำปรึกษาแก้ไขปัญหาในกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีพลาสติกและวิศวกรรม (บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน))
ต้นแบบอุตสาหกรรม
  • สูตรดอกยางล้อตันประหยัดพลังงานที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • ต้นแบบกระบวนการคำนวณแผนที่อัตราการกัดกร่อนของเหล็กกล้าในประเทศไทย
  • ซอฟต์แวร์เพื่อการเรียนรู้คอมพิวเตอร์ช่วยในการคำนวณทางวิศวกรรม
  • แอพพลิเคชั่นซอฟต์แวร์ทางสถิติเพื่อช่วยในการควบคุมกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมหล่อโลหะ
  • กระบวนการเผาซินเทอร์เหล็กกล้าไร้สนิมเกรด 304L กระบวนการปรับปรุงผิว และกระบวนการสร้างเกลียวในเพื่อเพิ่มความต้านทานการกัดกร่อน
  • ต้นแบบ แม่พิมพ์ฉีดขึ้นรูปใบพัดลม 16 นิ้ว ที่มีระบบหล่อเย็นแบบ conformal cooling ที่ขึ้นรูปด้วย SLS (Blade 16)

ความปลอดภัยและคุณภาพชีวิต

การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ลดความเสี่ยงจากสารมลพิษ เสริมสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดีในที่อยู่อาศัย เพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ซึ่งเป็นการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG
1. Identification of Emerging Pollutants & Solutions
  • การพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย จากแหล่งน้ำเสียชุมชนที่พักอาศัย ด้วยวิธีการทางชีวภาพโดยใช้พืชและวัสดุรูพรุน รวมทั้งการปลูกพืชร่วมกับระบบน้ำเสีย โดยประยุกต์ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการบำบัดน้ำเสียทางชีวภาพ
  • การพัฒนาตรวจติดตามและแยกแยะสารมลพิษอันตราย โดยเฉพาะสารมลพิษอุบัติใหม่ โดยประยุกต์ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการวิเคราะห์มลพิษ และวิศวกรรมพื้นผิวทางด้านสิ่งแวดล้อม 
2. Sustainable and Innovative Utilization of Materials
  • การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้งหรือวัสดุพลอยได้จากภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดการใช้วัตถุดิบใหม่ ตลอดจนการพัฒนากระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีวัสดุประยุกต์ ได้แก่ การใช้ประโยชน์จากขยะ เทคโนโลยีวัสดุพรุน การปรับเปลี่ยนพื้นผิววัสดุ และการสังเคราะห์วัสดุ เพื่อสามารถกำหนดคุณสมบัติของวัสดุพรุนให้ตรงกับการประยุกต์ใช้งานที่หลากหลาย 
  • พัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีในการออกแบบโครงสร้างจุลภาค เพื่อทำนายสมบัติเชิงกลและเชิงความร้อนของวัสดุเซรามิกพรุน 
ต้นแบบอุตสาหกรรม
  • มวลรวมเบาจากวัสดุพลอยได้จากอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี 

การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ลดความเสี่ยงจากสารมลพิษ เสริมสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดีในที่อยู่อาศัย เพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ซึ่งเป็นการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG

1. ด้านอาหาร
  •  การวิจัย พัฒนา และประยุกต์ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีด้าน food structuring design, food oral processing และ food-gut health interaction เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารแปรรูปเพื่อสุขภาพ การเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ สำหรับกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases) หรือ NCDs ผู้สูงอายุและผู้รักสุขภาพ ได้แก่ อาหารแปรรูปไร้ไขมัน/เกลือต่ำ ผลิตภัณฑ์อาหารปราศจากกลูเตน อาหารบดเคี้ยวและกลืนง่าย 
  • การนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้าน extrusion และ 3D printing ไปต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือกที่ตอบโจทย์ของกระแสสังคมในยุคปัจจุบัน สำหรับผู้บริโภคที่ห่วงใยสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อาหารจำเพาะบุคคล ได้แก่ หมึกพิมพ์อาหารเชิงฟังก์ชัน อาหารทดแทนเนื้อสัตว์จากโปรตีน
  • การประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้าน extraction และ characterization มาพัฒนาสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่จาก วัตถุดิบในประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร นำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้งาน ลดการนำเข้า และสร้างอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศ ได้แก่ สารเพคตินดัดแปรที่มีสมบัติต้านอนุมูลอิสระ/สมบัติพรีไบโอติก
2. ด้านวัสดุ อุปกรณ์ และระบบเพื่อการช่วยเหลือและฟื้นฟูร่างกาย
  • การวิจัยและพัฒนา โดยผสมผสานองค์ความรู้ด้านการออกแบบและขึ้นรูป การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ระบบนำส่งยา และเทคโนโลยี 3D printing เพื่อพัฒนาวัสดุที่มีคุณสมบัติต่างๆ เทียบเท่าวัสดุทางการค้า เช่น วัสดุทดแทนกระดูกตามส่วนต่างๆ ในร่างกาย ที่เหมาะสมกับสรีระของ คนไทย ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งาน และทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่ กระดูกเทียมรักษากระดูกติดเชื้อ กระดูกเทียมเลียนแบบธรรมชาติ วัสดุโครงร่างรองรับเซลล์สามมิติ
  • การประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านวัสดุศาสตร์ ผนวกกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี 3D printing มาช่วยในการออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์หรือเครื่องมือช่วยในการช่วยเหลือและฟื้นฟูร่างกายสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วย หรือผู้พิการ ให้มีโอกาสได้เข้าถึงอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ได้แก่ อุปกรณ์และเฝือกพยุงหลัง ที่นั่งสำหรับเด็กที่มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • การวิจัยและพัฒนาโดยนำหลักการ human-centric design มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบและพัฒนาระบบและอุปกรณ์ ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้ เพื่อช่วยเหลือ ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย เพื่อลดการความรุนแรงของอาการ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้แก่ ระบบดูแลและช่วยเหลือการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ
ผลงานเด่น
  • เตียงนอนแบบมีกลไกช่วยผู้สูงอายุในการลุกนั่งและลุกขึ้นยืน (Joey-Active Bed) (บริษัท เอสบี ดีไซนด์สแควร์ จำกัด)
ต้นแบบอุตสาหกรรม
  • เปลยกเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบตะกร้าในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน
  • อุปกรณ์พ่วงต่อปรับรถเข็นทั่วไปเป็นรถเข็นไฟฟ้า (M-Wheel)
  • ที่นอนน้ำ สำหรับผู้ป่วย ผู้พิการ และผู้สูงอายุ ที่นอนติดเตียง

อุตสาหกรรมฐานเกษตรกรรม

การวิจัยและพัฒนาที่มุ่งเน้นการนำวัตถุดิบทางการเกษตรที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ มาพัฒนาให้มีคุณลักษณะเฉพาะ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยให้เป็นไปอย่างยั่งยืน เช่น ยางและวัสดุชีวภาพ เป็นต้น กลุ่มเป้าหมายการใช้ประโยชน์นี้ยังรวมถึงวัสดุบรรจุภัณฑ์เพื่อยืดอายุผักผลไม้สดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นผลงาน 3 ด้าน ได้แก่ 

1. Green Latex and Innovative Rubber Production
  • การวิจัย พัฒนา และประยุกต์ใช้องค์ความรู้ และเทคโนโลยีด้านน้ำยางสดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้านมาสเตอร์แบทช์ยางด้วยกระบวนการแบบต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาเครื่องจักรและกระบวนการผลิต เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปน้ำยางสดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างนวัตกรรมน้ำยางข้นที่ลดการใช้สารเคมีที่เป็นพิษและลดโปรตีนที่ก่อให้เกิดการแพ้ รวมถึงสร้างองค์ความรู้ในการควบคุมการย่อยสลายทางชีวภาพของยาง ได้แก่ น้ำยางข้นที่มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาง ต้นแบบเครื่องผลิตมาสเตอร์แบทช์ยางธรรมชาติผสมสารตัวเติม มาสเตอร์แบทช์ยางธรรมชาติผสมสารตัวเติมสำหรับขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางล้อ องค์ความรู้เกี่ยวกับการย่อยสลายทางชีวภาพของผลิตภัณฑ์ยาง    โดยการใช้จุลินทรีย์
2. Functional Packaging Technology 
  • การวิจัย พัฒนา และประยุกต์ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการขึ้นรูปฟิล์ม การผสมและการคอมพาวด์ เพื่อออกแบบสูตรพอลิเมอร์สำหรับการขึ้นรูปฟิล์มบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ สามารถรักษาคุณภาพและยืดอายุผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ ต้นแบบฟิล์มลามิเนตปิดหน้าถาดชนิดพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) และพอลิโพรพิลีน (PP) ที่มีสมบัติปิดผนึกลอกออกได้ง่าย ป้องกันการเกิดฝ้า และมองเห็นง่าย ต้นแบบฟิล์มบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพสำหรับการบรรจุผักและผลไม้ ต้นแบบฟิล์มบรรจุภัณฑ์ที่มีสมบัติยอมให้กลิ่นแพร่ผ่านได้ในระดับต่ำสำหรับผักผลไม้ที่มีกลิ่น เช่น ทุเรียน สมุนไพร รวมถึงอาหารแปรรูป
3. Bio-based Materials
  • การวิจัย พัฒนา และประยุกต์ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านสารเติมแต่งพอลิเมอร์ การออกแบบโครงสร้าง และการสังเคราะห์ เพื่อพัฒนาสารเติมแต่งศักยภาพสูง จากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการหมักสารชีวภาพ สำหรับใช้ปรับปรุงสมบัติของผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมต่อการใช้งานด้านต่างๆ ได้แก่ เทคโนโลยีการผลิต ดี-แล็กไทด์ โดยใช้เทคโนโลยีไมโครเวฟ ต้นแบบผลิตภัณฑ์สเตอริโอคอมเพล็กซ์ที่มีสมบัติเหมาะสมในการงานเป็นบรรจุภัณฑ์ทนความร้อน

เกษตรกรรม

การวิจัยและพัฒนาวัสดุที่มีสมบัติเฉพาะในการปรับสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการเจริญเติบโตของพืชประเภทต่างๆ โดยมีต้นทุนที่เหมาะสม นำไปสู่การยกระดับคุณภาพและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูง มุ่งเน้นผลงาน 2 กลุ่ม ได้แก่ 

1. Materials for Agriculture
  • การวิจัย และพัฒนาด้านผ้าไม่ถักทอ หรือ นอนวูฟเวน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์นอนวูฟเวนโดยการผสมผสานระหว่างองค์ความรู้ด้านเส้นใย การออกแบบและขึ้นรูป และการตกแต่งสมบัติพิเศษ เพื่อให้นอนวูฟเวนมีความแตกต่างหลากหลายตามการใช้งาน รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่าผลิตผลทางการเกษตรของไทย ได้แก่ ถุงปลูกเมลอน สตอว์เบอร์รี่ และมะเขือเทศ วัสดุปลูกในระบบไฮโดรโปนิกส์ผักกินใบ ถุงห่อผลไม้มะม่วง กล้วยหอม วัสดุคลุมเพื่อควบคุมอุณหภูมิและความชื้นในระหว่างการขนส่ง พืช ผัก ผลไม้ 
  • การประยุกต์องค์ความรู้และเทคโนโลยีผง วัสดุพรุน และวัสดุเชิงประกอบเซรามิก-โพลิเมอร์ เพื่อพัฒนาเป็นวัสดุปลูกทดแทน และวัสดุทางเลือกความพรุนสูง  มีสมบัติเหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืชเป้าหมาย รวมทั้งลดต้นทุนค่าวัสดุปลูก และลดขั้นตอนการดำเนินงานจากกระบวนการเดิม ได้แก่ วัสดุปลูกอนินทรีย์สำหรับปลูกพืชรากอากาศ วัสดุทางเลือกสำหรับผลิตหัวเชื้อเห็ดและกระบวนการใช้วัสดุทางเลือก
2. Specialty Films (greenhouse)
  • การวิจัยและพัฒนาฟิล์มสมบัติพิเศษ เพื่อให้ได้สมบัติตามที่ต้องการ เช่น กรองรังสีอัลตราไวโอเลต สะท้อนรังสีความร้อนหรือเอ็นไออาร์ (Near Infrared Radiation, NIR) กระจายแสง (light diffusion) ได้ดี และยอมให้แสงในช่วงพาร์ (Photosynthetically Active Radiation, PAR) ส่องผ่านได้สูง เป็นต้น เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับเกษตรกรในการเลือกใช้ฟิล์มคลุมโรงเรือนที่เหมาะสม สำหรับการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย ได้แก่ ฟิล์มคลุมโรงเรือนที่มีสมบัติหลากหลายรวมไว้ในฟิล์มเดียว

นวัตกรรมพลังงาน 

การวิจัยและพัฒนา รวมทั้งกิจกรรมทางเทคนิคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานและเทคโนโลยีเชื้อเพลิงขั้นสูงเพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานในมิติต่างๆ ทั้งด้านคุณภาพ ต้นทุน การแข่งขัน และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นผลงาน 2 กลุ่ม ได้แก่ 

1. เทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน
  • การวิจัย พัฒนา และประยุกต์ใช้องค์ความรู้ และเทคโนโลยีด้านแบตเตอรี่ และซูเปอร์คาปาซิเตอร์ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โอกาสทางธุรกิจให้แก่ภาคอุตสาหกรรม และเสถียรภาพทางพลังงานให้แก่ประเทศ รองรับการใช้งานด้านความมั่นคงและยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ได้แก่ ต้นแบบอิเล็กโตรไลต์สำหรับแบตเตอรี่ลิเทียมความจุพลังงานสูง แพ็กแบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศไทย สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ข้อเสนอแนะเชิงเทคนิคและนโยบายการใช้ระบบกักเก็บพลังงานเพื่อสนับสนุนการใช้งาน และการจัดการพลังงานในระดับไมโครกริด
2. เทคโนโลยีเชื้อเพลิงชั้นสูง
  • การวิจัย พัฒนา และประยุกต์ใช้องค์ความรู้ และเทคโนโลยีด้านคะตะลิสต์สำหรับกระบวนการไฮโดรทรีตติงและการผลิตไฮโดรเจน เพื่อสนับสนุนการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงด้านพลังงาน ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามแผนน้ำมันและแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก รวมถึง  การพัฒนาคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรฐานโลก ได้แก่ พัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับกระบวนการไฮโดรทรีตติงเพื่อผลิตน้ำมันดีเซลมาตรฐาน EURO V
  • การวิจัย พัฒนา และประยุกต์ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการปรับปรุงคุณภาพไบโอดีเซลและแก๊สชีวภาพ เพิ่มคุณภาพไบโอดีเซลเพื่อใช้ผสมในสัดส่วนที่สูงขึ้น เน้นการลดปริมาณสารปนเปื้อนประเภทโมโนกลีเซอไรด์ในไบโอดีเซล ได้แก่ ลดสารปนเปื้อนประเภทโมโนกลีเซอไรด์ สำหรับ B10/B20 การปรับ Diesel Particulate Filter (DPF) ในเครื่องยนต์ EURO V
ผลงานเด่น
  • Development of Electrolyte for Lithium-ion Batteries (บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)  (GPSC)