ที่มา
เตียงสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่ต้องพักฟื้นหลังการรักษาหรือผ่าตัดที่มีจำหน่ายในประเทศ มีจุดด้อยหลายประการ เช่น ใช้งานยากเพราะไม่ได้ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ รูปแบบไม่เอื้ออำนวยต่อการขึ้นลงจากเตียงด้วยตัวเอง ลักษณะเตียงให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในโรงพยาบาล อีกทั้งมีราคาสูง เพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
เป้าหมาย
ออกแบบและพัฒนาต้นแบบโครงสร้างเตียงแบบปรับนั่งได้สำหรับใช้งานที่บ้าน เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้สูงอายุที่แข็งแรงหรือนอนติดเตียง รวมทั้งผู้ป่วยที่ต้องพักฟื้นหลังการรักษาหรือผ่าตัด
ทีมวิจัยทำอย่างไร
1. ทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้อย่างปลอดภัย รวมถึงการฟื้นฟูสุขภาพร่างกายและจิตใจ
2. ออกแบบ “เตียงตื่นตัว” จากมุมมองของผู้ใช้ในด้านต่างๆ หรือที่เรียกว่า Human-centric design โดยคำนึงถึงความต้องการขั้นพื้นฐานของผู้ใช้ เช่น ช่วยในการเคลื่อนไหว ใช้งานได้ด้วยตนเอง ปลอดภัย ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ และราคาเหมาะสม
คุณสมบัติ
ต้นแบบโครงสร้างเตียง สามารถปรับนั่งและหมุนฐานรองรับฟูกได้ 90 องศา ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมต่อการลุกยืนและนั่งหันออกทางด้านข้างเตียง ทำให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยสามารถเปลี่ยนอิริยาบถได้ด้วยตนเองอย่างปลอดภัย ส่งผลดีต่อสภาพจิตใจเนื่องจากสามารถทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัวได้โดยไม่นอนติดเตียง
สถานภาพการวิจัย
- ต้นแบบเตียงถูกนำไปใช้งานที่โรงพยาบาลกลาง และสถาบันประสาทวิทยา ตั้งแต่ปี 2561 และยังใช้งานต่อเนื่องที่โรงพยาบาลกลางถึงปัจจุบัน (2563)
- ได้อนุญาตให้ใช้สิทธิประโยชน์จากผลงานวิจัยแก่ บริษัท เอสบี ดีไซนด์ สแควร์ จํากัด เพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แล้ว
แผนงานวิจัยในอนาคต
เพิ่มกลไกเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดแผลกดทับ
รายชื่อทีมวิจัย
ดร. ศราวุธ เลิศพลังสันติ, ดร. สิทธา สุขกสิ, ฝอยฝน ศรีสวัสดิ์, ประสิทธิ์ วัฒนวงศ์สกุล และณรงค์ พิทักษ์ทรัพย์สิน
ติดต่อ
ดร. ศราวุธ เลิศพลังสันติ (นักวิจัย) และฝอยฝน ศรีสวัสดิ์ (ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส)
กลุ่มวิจัยการออกแบบวิศวกรรมและการผลิตขั้นสูง
โทรศัพท์ 02 564 6500 ต่อ 4350 หรือ 4349
อีเมล sarawutl@mtec.or.th หรือ foifons@mtec.or.th