การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

737 Views

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นรัฐวิสาหกิจด้านกิจการพลังงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง ดำเนินธุรกิจหลักในการผลิต จัดให้ได้มา และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ผู้ใช้ไฟฟ้าตามกฎหมายกำหนดและประเทศใกล้เคียง พร้อมทั้งธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการไฟฟ้าภายใต้กรอบพระราชบัญญัติ กฟผ.

กฟผ. ผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ซึ่งตั้งอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศรวมทั้งสิ้น 50 แห่ง มีกำลังผลิตรวมทั้งสิ้น 15,789.58 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าหลายประเภท ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังความร้อน 3 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 6 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (พลังน้ำ) 27 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (ลม แสงอาทิตย์ ความร้อนใต้พิภพ) 9 แห่ง โรงไฟฟ้าดีเซล 4 แห่ง และโรงไฟฟ้าอื่น ๆ 1 แห่ง

โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ในภาคเหนือ มีโรงไฟฟ้ารวมทั้งหมด 10 เครื่อง กำลังผลิตรวมทั้งสิ้น 2,275 เมกะวัตต์ ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 18,000 ล้านหน่วยต่อปี ใช้ถ่านหินลิกไนต์จากเหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง เป็นเชื้อเพลิง เถ้าที่เหลือจากการเผาถ่านหินที่เกาะสะสมบนผนังภายในหม้อน้ำของโรงไฟฟ้า ส่งผลโดยตรงต่อเสถียรภาพและประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า กฟผ.จึงร่วมมือกับทีมวิจัยเอ็มเทค พัฒนาระบบทำความสะอาดเถ้าสะสมผนังเตาด้วยระบบฉีดน้ำแรงดันสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง  และลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

คุณพลศรี สุวิศิษฎ์อาษา รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า เล่าประสบการณ์ทำงานให้ฟังว่า “เรียนจบวิศวกรรมเครื่องกล เริ่มเข้าทำงานที่ กฟผ. ตั้งแต่ปี 2526  ทำงานอยู่ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นหลัก ทำหน้าที่เป็นทั้งวิศวกรเครื่องกล ไฟฟ้า และกังหัน มีประสบการณ์ควบคุม ดูแล  ปรับปรุงระบบและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแทบทุกส่วนของโรงไฟฟ้าฯ รวมถึงเขียนโปรแกรมใช้เองที่โรงงานไฟฟ้าด้วย ต่อมาได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการที่ กฟผ. ทำร่วมกับภาคเอกชนหลายแห่ง โดยทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ฟื้นฟูและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต สามารถลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับหน่วยงาน ล่าสุดได้รับมอบหมายให้ดูแลบริหารงานในตำแหน่ง รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา”

เกี่ยวกับงานวิจัยและพัฒนา “กฟผ. จัดสรรงบประมาณวิจัยประมาณ 2-3 % ของกำไร กระจายให้ทุกหน่วยงานภายในกำกับและดูแล  โดยแบ่งเป็น 5 ทิศทางคือ 1.นวัตกรรมในระบบไฟฟ้าของประเทศ 40% 2.การแก้ไขปัญหา เพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่าย 25% 3.การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม 15% 4.การอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนกับชุมชน 10% และ 5.การมุ่งไปสู่ธุรกิจใหม่ 10% โดยที่สายงานผลิตไฟฟ้าก็จะเน้นหนักไปในด้านที่ 1 และด้านที่ 2 เมื่อเจอปัญหา ก็ต้องหาคนทำวิจัย เสนองานวิจัยขึ้นมา และทำงานวิจัย” คุณพลศรี ให้ภาพรวม

“งานวิจัยและพัฒนาจะเป็นประโยชน์ถ้าคนทำและหน่วยงานที่ทำรู้จักทำ คือ ทำแล้วต้องเกิดประโยชน์ในส่วนใดส่วนหนึ่ง ทั้งหน่วยงาน ประเทศ สังคมและสิ่งแวดล้อม”

งานวิจัยและพัฒนาที่ร่วมดำเนินงานกับเอ็มเทค คุณพลศรี กล่าวว่า “กฟผ. ดำเนินงานวิจัยร่วมกับเอ็มเทคมาแล้วหลายโครงการ ในส่วนโครงการพัฒนาระบบทำความสะอาดเถ้าสะสมผนังเตาด้วยระบบฉีดน้ำแรงดันสูง ระยะที่ 1 เสร็จสิ้นแล้ว  เห็นว่ามีประโยชน์ สามารถนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนและลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ  ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินงานต่อเนื่องในระยะที่ 2  ได้มีโอกาสพูดคุยกับทีมวิจัยมากขึ้น และให้ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงในด้านทฤษฎี เทคนิค วิธีการ การเข้าไปมีส่วนร่วมของทีมงานที่ดูแลระบบ และการปรับระยะเวลาดำเนินงานให้เร็วขึ้นเพื่อให้ทันต่อความต้องการใช้งาน”

การทำโครงการวิจัยใหม่อยากให้เอ็มเทคคำนึงถึง 3 ส่วนสำคัญ
คือ ส่วนแรกอยากให้เอ็มเทคทำงานเชิงรุกมากขึ้น
ส่วนที่สอง เรื่องความเร็ว ปัจจุบันแข่งกันที่ความเร็ว
และเรื่องสุดท้าย การถ่ายทอดเทคโนโลยี
หลังงานวิจัยเสร็จสิ้นควรมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวม

คุณพลศรี ให้ข้อเสนอแนะว่า “การทำโครงการวิจัยใหม่อยากให้เอ็มเทคคำนึงถึง 3 ส่วนสำคัญ คือส่วนแรกอยากให้เอ็มเทคทำงานเชิงรุกมากขึ้น โดยเข้าไปที่โรงไฟฟ้าฯ เพื่อดูว่ามีงานอะไรที่ควรปรับปรุง มีเทคโนโลยีใหม่ๆ อะไรที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ แล้วเสนอให้โรงไฟฟ้าฯ พิจารณา เพราะมุมมองของคนนอกอาจได้แนวคิดใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์มากกว่าการให้คนในบอกปัญหา ส่วนที่สองคือเรื่องความเร็ว ปัจจุบันแข่งกันที่ความเร็ว ถ้าราคาถูกแต่นาน ก็ต้องถือว่าแพง เพราะเสียโอกาส แต่ถ้าทำแล้วเห็นผลเร็ว ผลตอบแทนกลับมาได้ไว ก็คุ้มค่ากว่า สุดท้ายคือเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี หลังงานวิจัยเสร็จสิ้นควรมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาและต่อยอดด้วย”