Green-rock: มวลรวมเบาสังเคราะห์จากวัสดุพลอยได้จากอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

287 Views

> ต้นแบบเชิงพาณิชย์

วัสดุมวลรวมตามธรรมชาติ เช่น ทรายหรือหินบด ที่มีน้ำหนักอยู่ในช่วง 2,300 ถึง 2,600 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แม้จะช่วยส่งเสริมความแข็งแรงของคอนกรีตได้เป็นอย่างดี แต่น้ำหนักที่สูงนี้ทำให้เกิดข้อจำกัดในการนำไปใช้งานบางประเภทที่ต้องการผลิตภัณฑ์คอนกรีตน้ำหนักเบา

ทีมวิจัยเอ็มเทคได้พัฒนากระบวนการผลิตต้นแบบมวลรวมเบาสังเคราะห์ในระดับอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นการใช้วัสดุพลอยได้จากอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของบริษัทในเครือไทยเบฟเวอเรจเป็นวัตถุดิบหลัก ต้นแบบมวลรวมเบาสังเคราะห์ที่พัฒนาขึ้นนี้มีลักษณะเป็นเม็ดทรงกลมที่มีโพรงอากาศจำนวนมากภายในโครงสร้างจึงมีน้ำหนักเบา มีความเป็นฉนวนอากาศที่ดี แต่ยังคงความแข็งแรงเทียบเท่าวัสดุเซรามิกทั่วไป

การส่งเสริมให้ผลิตมวลรวมเบาสังเคราะห์จากวัสดุพลอยได้จากอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ถือเป็นทางออกที่ดี เพราะนอกจากจะสามารถควบคุมลักษณะ และสมบัติของมวลรวมเบาที่ได้ให้เป็นไปตามการประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ แล้ว ยังช่วยเพิ่มมูลค่าของเสียหรือวัสดุพลอยได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ภาคเอกชนในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

ต้นแบบมวลรวมเบาสังเคราะห์ที่พัฒนานี้มีค่าความหนาแน่นอนุภาค 1.024 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร การดูดซึมน้ำร้อยละ 25 และค่ากำลังรับแรงกดอัด 6.41 เมกกะปาสคาล เมื่อนำวัสดุดังกล่าวไปทดแทนมวลรวมจากธรรมชาติ คอนกรีตดังกล่าวมีค่าการนำความร้อนที่ 0.726 วัตต์ต่อเคลวิน-เมตร ลดลงจากค่าการนำความร้อนของคอนกรีตทั่วไป (1.359 วัตต์ต่อเคลวิน-เมตร) ประมาณร้อยละ 46 ซึ่งมีความเหมาะสมต่อการนำไปใช้เป็นผนังอาคารเพื่อลดการถ่ายเทความร้อนจากภายนอกเข้าสู่อาคาร ช่วยลดภาระของการใช้ไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศได้เป็นอย่างดี

ทีมวิจัย

ดร. พิทักษ์ เหล่ารัตนกุล และทีมวิจัยวิศวกรรมเซรามิก