บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC)

1,225 Views

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งเมื่อ 10 มกราคม 2556 โดยเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะเป็นแกนนำในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปการของกลุ่ม ปตท. โดยมีนโยบายในการดำเนินธุรกิจให้มีความยั่งยืน ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้เสีย ยึดแนวปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ มีความโปร่งใสในการทำธุรกิจ มีพัฒนาการในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ดูแลและรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีกรอบการปฏิบัติให้เป็นไปตามแนวทางการบริหารจัดการความยั่งยืนของบริษัทฯ และตามมาตรฐานสากล

คุณลักษณะปรีชา ครุฑขุนทด ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงาน เล่าถึงที่มาในการทำงานร่วมกับเอ็มเทคว่า “บริษัทฯ เป็นแกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. จึงได้รับมอบหมายให้ลงทุนในบริษัท 24M Technologies ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐอเมริกาที่ประกอบธุรกิจหลักด้านการวิจัยและพัฒนาการผลิตแบตเตอรี่ประเภทลิเทียมไอออน (Lithium-Ion) เพื่อใช้เป็นระบบกักเก็บไฟฟ้าสำรองสำหรับภาคอุตสาหกรรม และการเสริมสร้างความมั่นคงในระบบจ่ายไฟฟ้าและระบบเชื่อมโยง บริษัทฯ คาดหวังว่าจะนำเทคโนโลยี Semi-Solid ซึ่งเป็นนวัตกรรมกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแบบใหม่ที่ลงทุนนี้มาสร้างฐานการผลิตในประเทศไทยเพื่อให้คนไทยได้ใช้ เพราะถือว่าคนไทยเป็นเจ้าของส่วนหนึ่ง อีกทั้งเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ให้แก่วิศวกรและนักวิจัยไทยด้วย”

“ในช่วงเริ่มต้นบริษัทฯ ต้องการศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีก่อนที่จะผลิตจริง และทดสอบใช้งานด้านการกักเก็บพลังงานภายในกลุ่มบริษัทของเครือ ปตท. ก่อน เพื่อรับข้อเสนอแนะกลับมาพัฒนาควบคู่กับการวิเคราะห์ เมื่อมีความต้องการที่มากพอและมีต้นทุนการผลิตที่แข่งขันได้จึงค่อยขยายขนาดการผลิตไปสู่ตลาดภายนอก รวมถึงแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าด้วย การจะผ่านจุดนี้ได้โรงงานต้นแบบถือเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น ในปี 2562 บริษัทฯ จึงเริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการผลิตใช้จริง ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างโรงงานมีความคืบหน้าไปมาก คาดว่าปี 2564 ก็น่าจะสามารถเริ่มผลิตผลิตภัณฑ์ได้”

ในส่วนของงานที่ต้องทำร่วมกัน
ทีมวิจัยของเอ็มเทคจะช่วยให้คำแนะนำแก่ทีมวิจัยของบริษัทฯ
อีกทั้งมีการฝึกอบรมให้ทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติในเรื่องของความรู้พื้นฐาน
และการแก้ปัญหาที่อาจพบเจอในสถานการณ์จริง
ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ที่ได้รับการอบรม

“อย่างไรก็ดี เนื่องจากธุรกิจนี้เป็นธุรกิจใหม่ของบริษัทฯ ทำให้ยังไม่มีนักวิจัยและผลงานวิจัยมากนัก แต่บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะสร้างองค์ความรู้ในด้านนี้จึงร่วมมือกับทีมวิจัยของเอ็มเทค1 นำโดย ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล เนื่องจากบุคลากรมีความเหมาะสมทั้งในเรื่องการมีคอนเนกชันกับบริษัท 24M Technologies มาก่อน และมีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีแบตเตอรี่เป็นอย่างดี รวมทั้งเอ็มเทคมีความพร้อมด้านเครื่องมือต่างๆ”

เรื่องการเตรียมความพร้อมของบุคลากรของบริษัทฯ คุณลักษณะปรีชาเล่าว่า “ในช่วงแรก บริษัทฯ ได้เตรียมทีมวิศวกรเพื่อรับถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านกระบวนการผลิตจากบริษัท 24M Technologies ต่อมาเมื่อบริษัทฯ เริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบก็เตรียมความพร้อมของบุคลากรด้านการวิจัย และพัฒนาเพื่อให้ทำงานคู่ขนานไปกับทีมวิจัยเอ็มเทค ในช่วงเริ่มต้นมีนักวิจัย 2 คน แต่ในอนาคตจะเพิ่มเป็น 6-7 คน และจะแยกเป็นอีกหน่วยงานหนึ่ง รวมถึงเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการวิจัยและพัฒนาด้วย”

คุณสุทธิภูมิ พุ่มหิรัญ ผู้จัดการส่วนพัฒนาธุรกิจ เล่าเสริมว่า “ในส่วนของงานที่ต้องทำร่วมกัน ทีมวิจัยของเอ็มเทคจะช่วยให้คำแนะนำแก่ทีมวิจัยของบริษัทฯ อีกทั้งมีการฝึกอบรมให้ทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติในเรื่องของความรู้พื้นฐานและการแก้ปัญหาที่อาจพบเจอในสถานการณ์จริง ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ที่ได้รับการอบรม”

“และเนื่องจากบริษัทฯ เป็นผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีของบริษัท 24M Technologies ดังนั้นในระยะยาวเราต้องมีความรู้และทำเองได้ โดยอย่างน้อยต้องเข้าใจความรู้พื้นฐานและเทคโนโลยีหลัก ส่วนในกรณีที่มีโจทย์ที่เรายังแก้ไม่ได้ก็ต้องให้ทีมวิจัยเอ็มเทคช่วย”

บริษัทฯ มีความพอใจที่ได้ทำงานร่วมกับเอ็มเทคมาก
เนื่องจากทีมวิจัยทำงานได้ตรงตามที่วางแผนไว้
ส่งมอบผลงานได้ตรงเวลาและตอบโจทย์ของบริษัทฯ

เมื่อถามถึงจุดเด่นของเทคโนโลยีที่รับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัท 24M Technologies คุณสุทธิภูมิกล่าวว่า “แบตเตอรี่ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีนี้มีความปลอดภัยสูง ซึ่งบริษัท 24M Technologies ได้เน้นที่การออกแบบเซลล์ของแบตเตอรี่ให้มีความปลอดภัย ไปจนถึงการควบคุมกระบวนการผลิต มีโครงสร้างที่รีไซเคิลได้ง่ายทำให้สามารถนำวัสดุบางชนิดกลับมาใช้ใหม่ได้ และเป็นเทคโนโลยีแบบใช้กระบวนการผลิตเป็นฐาน (process-based technology) ซึ่งบริษัทฯ สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้โดยการปรับเปลี่ยนสารตั้งต้นหรือวัตถุดิบ หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คือ บริษัทฯ ซื้อเครื่องทำไอศกรีม ดังนั้น เราสามารถใช้เครื่องนี้ผลิตไอศกรีมได้หลากหลายรสชาติ ตามแนวโน้มความต้องการของตลาด”

สำหรับการทำงานในภาพรวมที่ผ่านมา     คุณลักษณะปรีชากล่าวว่า  “บริษัทฯ มีความพอใจที่ได้ทำงานร่วมกับเอ็มเทคมาก เนื่องจากทีมวิจัยทำงานได้ตรงตามที่วางแผนไว้ ส่งมอบผลงานได้ตรงเวลาและตอบโจทย์ของบริษัทฯ”

คุณสุทธิภูมิ กล่าวเสริมว่า “ทีมวิจัยเอ็มเทคมีความยืดหยุ่นในการทำงานมาก แม้บริษัทฯ ขอปรับขอบเขตของงานเล็กน้อยในภายหลังเพื่อความเหมาะสม ทีมวิจัยก็ช่วยสนับสนุนจึงทำให้การทำงานร่วมกันราบรื่นเสมอมา”

คุณลักษณะปรีชาได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในช่วงที่โรงงานต้นแบบที่มาบตาพุดเริ่มผลิต บริษัทฯ คงมีงานวิจัยมากขึ้น ในส่วนของเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ อาจมีการใช้ร่วมกันมากขึ้นเพื่อลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน และในส่วนของบุคลากรก็อาจให้ช่วยรองรับหากมีการขยายงานที่เพิ่มมากขึ้น”

1ทีมวิจัยเอ็มเทคประกอบด้วย ดร.วิทูรัช กู๊ดวิน นักวิจัย ทีมวิจัยเชื้อเพลิงและเคมีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดร.เปรียว เอี่ยมละมัย นักวิจัย ดร.อุกฤษฎ์ สหพัฒน์สมบัติ นักวิจัย ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล นักวิจัยอาวุโสและหัวหน้าทีมวิจัย ทีมวิจัยวัสดุและงานระบบเพื่อใช้ประโยชน์ทางพลังงานไฟฟ้าเคมี กลุ่มวิจัยวัสดุสำหรับพลังงาน